นาโต้ยังหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัสเซียด้วย ขณะที่จีนกล่าวว่าตะวันตกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของตน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำ NATO จะแสดงจุดยืนด้วยการจะประกาศว่าให้จีนเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อพันธมิตรตะวันตกเป็นครั้งแรก หนึ่งวันหลังจาก G7 ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและไต้หวัน ขณะที่จีนตอบโต้ว่าเป็นการใส่ความ
เยนส์ สทอลเทนแบร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการ NATO ระบุว่าการประชุมสุดยอดในวันจันทร์เป็น "ช่วงเวลาสำคัญ" และการประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เห็นว่าพันธมิตรยังคงเป็นแกนกลางที่สนับสนุนความพยายามของสหรัฐในการรักษาสันติภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงการยืนหยัดต่อต้านจีนและ การเสริมแสนยานุภาพทางทหารของจีนอย่างรวดเร็ว
นักการทูตกล่าวว่า แถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมสุดยอด NATO จะไม่เรียกจีนว่าเป็นปฏิปักษ์ แต่จะแสดงความกังวล โดยเรียกจีนว่าเป็นความท้าทายที่ "เป็นระบบ" ต่อความมั่นคงของมหาสมุทรแอตแลนติกใเพราะจีนเข้าร่วมกับรัสเซียในการฝึกซ้อมทางทหาร เปิดการโจมตีทางไซเบอร์ และเสริมสร้างกองทัพเรืออย่างรวดเร็ว
บรรดาผู้นำของกลุ่ม G7 ที่พบกันในอังกฤษเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำหนิจีนเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียง เรียกร้องให้จีนรักษาอำนาจปกครองตนเองของฮ่องกงและเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่มาของไวรัสโคโรน่าอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในประเทศจีน
สถานทูตจีนในลอนดอนกล่าวว่า ได้คัดค้านอย่างเต็มที่กับการที่ G7 กล่าวถึงซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน โดยกล่าวว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงและเปิดเผย “เจตนาร้ายของบางประเทศ เช่น สหรัฐ” ซึ่งสถานทูตกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า "จะต้องไม่ใส่ความจีนให้เสียหาย"
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ผู้นำ G7 ได้แสดงท่าทีมตามความจำเป็นเพื่อ "ตอบโต้และแข่งขัน" กับจีนในความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่การปกป้องประชาธิปไตยไปจนถึงเทคโนโลยี
“จีนจะถูกเอ่ยในแถลงการณ์ (NATO) ในลักษณะที่แข็งกร้าวกว่าที่เราเคยเห็นมาก่อน” ซัลลิแวนกล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบิน Air Force One ของไบเดนที่เดินทางจากการประชุมสุดยอด G7 ในอังกฤษไปยังเมืองหลวงของเบลเยียม
นับตั้งแต่การผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2014 NATO ก็ได้ปรับปรุงการป้องกันภูมิภาคให้ทันสมัยขึ้น แต่เพิ่งจะเริ่มพิจารณาอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งที่สื่อตะวันตกและรัฐบาลตะวันตกเรียกว่า "ความทะเยอทะยานของจีน" แต่จีนเรียกว่าเป็นการใส่ร้าย
"ความทะเยอทะยานของจีน" ที่ชาติตะวันตกตราหน้าจีนคือท่าทีของพวกเขาที่ไม่พอใจต่อการลงทุนของจีนในท่าเรือยุโรปและแผนการจัดตั้งฐานทัพทหารในแอฟริกาไปจนถึงการฝึกร่วมทางทหารกับรัสเซียในทะเลบอลติก NATO เห็นพ้องต้องกันว่าการสมควรจะตอบโต้ "การผงาดของจีน" อย่างรุนแรง
ในขณะเดียวกัน ความพยายามของรัสเซียในการแบ่งแยกตะวันตกจะต้องถูกหยิบยกมาพูดถึงเช่นกัน นักการทูตรายหนึ่งเปิดเผยเรื่องนี้ก่อนการประชุมระหว่างไบเดนและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียในวันอังคารนี้ที่เจนีวา
“ความสัมพันธ์ระหว่าง NATO และรัสเซียอยู่ในจุดต่ำสุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น” สตอลเทนแบร์ก บอกกับ The Times Radio ในวันอาทิตย์ “เราเห็นความเต็มใจที่จะใช้กำลังทหารกับเพื่อนบ้าน ยูเครน จอร์เจีย แต่เรายังเห็นการโจมตีทางไซเบอร์ เราเห็นความพยายามที่จะเข้าไปยุ่งในกระบวนการประชาธิปไตยทางการเมืองของเรา เพื่อบ่อนทำลายความไว้วางใจในสถาบันของเรา และความพยายามที่จะแบ่งแยกเรา”
ปัญหาจากภัยคุกคามนี้ บรรดาผู้นำหวังว่าไบเดนจะนำสหรัฐกลับเข้าสู่การป้องกันโดยรวมของ NATO หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับ NATO ร้าวฉาน
“เราเชื่อว่า NATO มีความสำคัญต่อความสามารถของเราในการรักษาความมั่นคงของสหรัฐ และผมต้องการให้พวกเขารู้ว่า NATO เป็นภาระผูกพันอันล่วงละเมิดมิได้” ไบเดนกล่าวเมื่อวันอาทิตย์หลังการสิ้นสุดการประชุม G7 ก่อนบินไปยังบรัสเซลส์
Photo by KENZO TRIBOUILLARD / POOL / AFP