ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกในอินเดียระงับการส่งออกวัคซีนเพื่อสำรองใช้ในประเทศ กระทบโครงการ COVAX และประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเฝ้ารอวัคซีนอย่างหนัก และอาจสะเทือนไปทั้งโลก
องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Gavi ผู้นำร่วมของโครงการแจกจ่ายวัคซีนต้าน Covid-19 COVAX ประกาศว่าทางโครงการต้องการวัคซีนเพิ่มอีก 190 ล้านโดสอย่างเร่งด่วนภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อนำมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปเนื่องจากอินเดียหยุดส่งออกวัคซีน
จากข้อมูลของ Gavi เดิมทีสถาบันเซรุ่มของอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ได้รับสิทธิ์ในการผลิตวัคซีน Covishield ของ AstraZeneca ให้คำมั่นว่าจะส่งมอบวัคซีน 200 ล้านโดสให้โครงการ COVAX โดย 111 ล้านโดสมีกำหนดส่งให้ประเทศในแอฟริกาและเอเชีย-แปซิฟิกระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.ปีนี้ แต่จนถึงวันอังคาร (25 พ.ค.) SII ส่งมอบวัคซีนให้ COVAX เพียง 30 ล้านโดสเท่านั้น
ตอนที่อินเดียเริ่มส่งมอบวัคซีนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในช่วงขาลง แต่เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายวันหลักแสนคน SII จึงต้องให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีนในประเทศเป็นอันดับแรก เนื่องจากความต้องการวัคซีนเพิ่มขึ้น ทางการอินเดียจึงประกาศระงับการส่งออกวัคซีนชั่วคราวเมื่อเดือน มี.ค. และคาดว่าจะกลับมาส่งออกวัคซีน Covishield ได้อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้
ทว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของอินเดียทำให้ต้องยืดระยะเวลาระงับการส่งออกวัคซีนออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ และยังไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้โครงการ COVAX ได้
การระงับส่งออกวัคซีนของอินเดียจึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องพึ่งพาโครงการ COVAX ในการจัดหาวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ อาทิ เนปาลเพื่อนบ้านของอินเดียที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่วัคซีนแทบจะหมดประเทศแล้ว โดยเหลือวัคซีน Covishield สำหรับใช้ฉุกเฉินเพียง 50,000-60,000 โดส
บังกลาเทศเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบ ก่อนหน้านี้บังกลาเทศมีคิวจะได้รับวัคซีน Covishield กว่า 10 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนนี้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนมาถึงหรือยัง และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) เผยว่าขณะนี้บังกลาเทศไม่มีวัคซีนแล้ว
ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา และกัมพูชาต่างกำลังรอคอยการส่งมอบวัคซีน Covishield เช่นกัน โดย IFRC ระบุว่า “ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน”
ทว่า วิกฤตการแพร่ระบาดในอินเดียและการขาดแคลนวัคซีนของโครงการ COVAX ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศในแถบเอเชียอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนไปทั้งโลกด้วย เพราะยิ่งเชื้อไวรัสแพร่กระจายโดยไร้การควบคุมนานเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดสายพันธุ์ที่อันตรายหรือติดต่อได้ง่ายก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
Photo by JAAFAR ASHTIYEH / AFP