ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดค้นยารักษา Covid-19 ตัวใหม่ฆ่าไวรัสได้ 99.9% ใช้ได้กับทุกสายพันธุ์
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพเมนซีส์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย (MHIQ) และสถาบันวิจัยซิตีออฟโฮปในสหรัฐ คิดค้นยาต้านไวรัสตัวใหม่ที่สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในปอดได้ถึง 99.9% จุดประกายความหวังเป็นยาต้าน Covid-19 ตัวใหม่
โดยปกติแล้วยาต้านไวรัสตัวอื่นๆ อาทิ ทามิฟลู (Tamiflu) ซานามิเวียร์ (zanamivir) และเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) จะช่วยลดอาการและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ยาตัวใหม่นี้จะตรงเข้าค้นหาและทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสโดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Therapy ระบุว่า ยาตัวใหม่ใช้เทคโนโลยียับยั้งการทำงานของยีนโดยการแทรกแซงอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เรียกว่า siRNA โจมตีดีเอ็นเอของไวรัสโดยตรง ซึ่งทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และยังใช้อนุภาคนาโนไขมันที่ออกแบบโดยทั้งสองสถาบันส่ง siRNA ลงไปที่ปอดซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อโดยตรง
นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า เมื่อทดสอบในหนูทดลองที่ติดเชื้อ SARS-Cov-2 ที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 พบว่าทำให้หนูมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนูที่รอดชีวิตซึ่งตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในปอดเลย
ไนเจล แม็คมิลลัน หนึ่งในทีมวิจัยจาก MHIQ เผยว่า “ยาที่ใช้เทคโนโลยี siRNA ลดปริมาณไวรัสได้ถึง 99.9% และอนุภาคนาโนนี้สามารถกระจายในเซลล์ปอดเป็นวงกว้างและกำจัดยีนของไวรัส” และยาดังกล่าวมีเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจงเฉพาะกับไวรัสก่อโรค Covid-19 เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย เนื่องจากทางผู้พัฒนาออกแบบชุดคำสั่งที่จำเพาะอย่างยิ่งด้วยหลักการทางพันธุกรรม ให้ยาค้นหาและทำลายเซลล์หรืออนุภาคไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น
ด้าน เควิน มอร์ริส จากสถาบันซิตีออฟโฮปเผยว่า “ยานี้ถูกออกแบบให้ใช้ได้ผลกับทั้งเชื้อไวรัส SARS-CoV-1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส และ SARS-CoV-2 และสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นในอนาคต เนื่องจากถูกออกแบบให้โจมตีดีเอ็นเอของไวรัสในจุดที่มีความคงตัวและการเปลี่ยนแปลงต่ำ”
ความสำเร็จนี้จุดประกายความหวังในการพัฒนายารักษาผู้ป่วย Covid-19 และการติดเชื้อโคโรนาไวรัสอื่นๆ ในอนาคต ทั้งยังสะดวกในการใช้งาน เพราะเก็บได้ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสได้ 12 เดือน และในอุณหภูมิห้องได้ราว 1 เดือน
Photo by Handout / National Institute of Allergy and Infectious Diseases / AFP