WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 พฤษภาคม 2564 : 13:02 น.

สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกยกให้โควิดสายพันธุ์อินเดียเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก ซึ่งขณะนี้แพร่กระจายไปแล้ว 44 ประเทศ

หลังจากที่เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้วนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ "น่ากังวลระดับโลก"

โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าไวรัสตัวเดิม และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดจากวัคซีนหรือการติดเชื้อมาก่อนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและข้อมูลปัจจุบันยังถือว่าวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและการเสียชีวิตได้

ไวรัสกลายพันธุ์ B.1.617 มีการกลายพันธุ์ใน 2 ตำแหน่ง (Double Mutant) คือ E484Q และ L452R โดยไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้จะมีการกลายพันธุ์ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่ไวรัสที่พบในอินเดียมีการกลายพันธุ์ทั้ง 2 ตำแหน่ง และยังพบการแตกกิ่งย่อยไปเป็น B.1.617.1 , B.1617.2 และ B.1.617.3 นอกจากนี้การกลายพันธุ์ที่หนามโปรตีนของไวรัสจะทำให้ไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้นทำให้แพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลายพันธุ์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบในอินเดียคือ B.1.618 หรือที่เรียกกันว่า "โควิดสายพันธุ์เบงกอล" ซึ่งมีการกลายพันธุ์ถึง 3 ตำแหน่ง (Triple Mutant) โดยมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K และ D614G และกรดอะมิโน H146 และ Y145 ได้หายไป ซึ่งทำให้ไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นและหลบหลีกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุด (12 พ.ค.) องค์การอนามัยโลกประกาศว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ B.1.617 แล้วกว่า 4,500 เคสใน 44 ประเทศจาก 6 ภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากที่สุดรองลงมาจากอินเดีย

โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศเกือบ 23 ล้านราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่กว่า 3 แสนรายและเสียชีวิตวันละเกือบ 4 พันราย

นอกจากนี้ยังมีไวรัสตัวอื่นๆ ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก ได้แก่ สายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร, สายพันธุ์ B.1.351 ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ P.1 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในบราซิล

Photo by Arun SANKAR / AFP

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ