WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 พฤษภาคม 2564 : 11:10 น.

แม้ว่าผลการทดลองวัคซีนที่ผ่านมาอาจทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่มั่นใจในวัคซีนดังกล่าว แต่จากการใช้จริงในอินโดนีเซียและบราซิลพบว่าได้ผลดี

บลูมเบิร์กรายงานวัคซีนต้านโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) ที่ใช้ฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในอินโดนีเซียส่งสัญญาณที่ดี หลังจากที่หลายประเทศกำลังถกเถียงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวเนื่องจากผลการทดลองจากชาติตะวันตกชี้ว่ามีประสิทธิภาพต่ำ

บูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ว่าได้ทำการติดตามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 25,374 คนในจาการ์ตาเป็นเวลา 28 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และพบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้ออาการหรนักได้ 96% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% (ไม่มีผู้เสียชีวิต) โดยเห็นผลเร็วที่สุดภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน

พร้อมกล่าวว่า 94% ของบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนดังกล่าวมีผลลัพธ์ออกมาดีกว่าการทดลองวัตซีนทางคลินิกก่อนหน้านี้ โดยมีอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ลดลงอย่างมากในหมู่บุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัคซีนดังกล่าวได้ผลดีต่อไวรัสสายพันธุ์ใดในอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่พบการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสกลายพันธุ์

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดีประกอบกับก่อนหน้านี้ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในบราซิลก็ชี้ให้เห็นว่ามันมีประสิทธิภาพในการใช้จริงมากกว่าในขั้นทดลองเช่นกัน

หยิน เหว่ยตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิโนแวคให้สัมภาษณ์กับในวันเดียวกันว่ามีหลักฐานชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวทำงานได้ดีในการใช้จริงมากกว่าผลการทดลองทางคลินิก

แม้ว่าก่อนหน้านี้วัคซีนดังกล่าวจะถูกตั้งคำถามถึงอัตราประสิทธิภาพที่แตกต่างกันในการทดลองแต่ละครั้งและมีข้อกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใสของข้อมูล

ผลการศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอินโดนีเซียประกอบกับในเมืองเซอร์รานา ประเทศบราซิล ซึ่งมีประชากร 45,000 คน พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงอย่างมากหลังจากที่พวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

ในทางกลับกันในชิลีพบการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้งหลังฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1 ใน 3 ของประชากร 19 ล้านคน ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในโลกแต่ยังไม่เร็วพอที่จะหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสที่ระบาดไปทั่วละตินอเมริกา

โดยหยิน เหว่ยตง อธิบายว่า "คนกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนในชิลีคือคนชราซึ่งไม่ถึง 15 ล้านโดส หมายความว่ามีเพียง 7 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนของเรา หรือเทียบเท่า 36% ของประชากร 19 ล้านคน จึงไม่แปลกที่ไวรัสจะสามารถระบาดขึ้นมาอีกครั้งเนื่องจากกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นหลัก"

"การป้องกันของวัคซีนมีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่เนื่องจากสายพันธุ์ของไวรัส แต่ดูเหมือนว่าซิโนแวคจะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลได้เป็นอย่างดี" เขากล่าวเสริม

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มใช้วัคซีนของซิโนแวค โดยในเดือนม.ค. ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นผู้นำคนสำคัญคนแรกของโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

ด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าวเสริมว่า "อัตราประสิทธิภาพขั้นต่ำควรสูงกว่า 50% ดังนั้นวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่คุณจะได้รับโดยเร็วที่สุดเนื่องจากการให้วัคซีนทุกครั้งสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ ไม่เพียงแต่ต้องมีอัตราประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องสามารถฉีดให้แก่ประชาชนได้เร็วที่สุดด้วย"

Photo by Ted ALJIBE / AFP

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ