ประเทศจีนกำลังพยายามปรับปรุงพันธุกรรมสุกรรวมถึงปศุสัตว์อื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตลดพึ่งพาสินค้านำเข้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าจีนจะพยายามปรับปรุงพันธุกรรมของสุกรและปศุสัตว์อื่นๆ ภายใน 10 ปีข้างหน้าเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์ที่สามารถผลิตเนื้อได้มากขึ้นแต่มีความต้องการในการบริโภคน้อยลง
กระทรวงเกษตรระบุว่าโครงการนี้จะดำเนินไปจนถึงปี 2035 ซึ่งครอบคลุมทั้งสุกร โคนม โคเนื้อ แกะ และไก่ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจีนจะมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเพาะพันธุ์ในระดับสากล
ฉือ เจียนจง เจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์แห่งชาติของกระทรวงเกษตรและคณะกรรมการทัพยากรพันธุกรรมสัตว์ปีกเผยต่อผู้สื่อข่าวบลูมเบิร์กว่าผลผลิตจากหมูนั้นต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วประมาณ 30%
ขณะที่โคนมผลิตนมได้เพียง 80% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดชั้นนำบางแห่ง นอกจากนี้จีนต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศในการผลิตไก่เนื้อขนสีขาว
ซุน เหาฉิง เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการพันธุศาสตร์ปศุสัตว์ระบุว่าหากสามารถปรับปรุงคุณภาพของสุกรได้ก็จะช่วยลดการใช้เมล็ดพืชและอาหารสัตว์อื่นๆ ไปได้หลายล้านตัน นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสุกรและปศุสัตว์อื่นๆ อีกด้วย
ด้านเฉิน เหยาเซิง เจ้าหน้าที่จากโครงการปรับปรุงพันธุกรรมสุกรเผยว่าแรงผลักดันในการปรับปรุงพันธุกรรมของปศุสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของประเทศในการลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมรายได้ของประชาชนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เฉินกล่าวว่าจีนยังคงต้องนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศเพื่อเพิ่มคลังสินค้าในประเทศให้สามารถก้าวทันประเทศอื่นๆ ได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศุลกากรชี้ว่าในไตรมาสแรกจีนนำเข้าสุกร 10,433 ตัวคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐโดยส่วนใหญ่มาจากเดนมาร์กและสหรัฐอเมริกา
Scott Olson/Getty Images/AFP