เปิดประวัติความเป็นมาเรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 ของอินโดนีเซีย พบเคยยกเครื่องใหม่มาแล้ว 1 ครั้ง
ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 ของอินโดนีเซียที่ขาดการติดต่อพร้อมลูกเรือ 53 คน ระหว่างฝึกซ้อมทางทะเลนอกชายฝั่งเกาะบาหลี เข้าสู่วันที่ 2 โดยล่าสุดการค้นหาทางอากาศพบคราบน้ำมันที่ใกล้กับจุดที่เรือดำน้ำดำลงทะเล ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอินเดีย เตรียมส่งทีมช่วย ต่อไปนี้คือประวัติความเป็นมาของเรือดำน้ำ KRI Nanggala-402
เรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 อยู่ในชั้น Cakra ของอินโดนีเซีย ต่อขึ้นในปี 1977 ที่เยอรมนี และเข้าประจำการในกองทัพอินโดนีเซียเมื่อปี 1981 ปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 เรือดำน้ำที่ประจำการในกองทัพอินโดนีเซีย
เรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 เข้ารับการประกอบใหม่ที่เกาหลีใต้เป็นเวลา 2 ปี แล้วเสร็จเมื่อปี 2012 สำนักข่าว Antara ของอินโดนีเซียรายงานในขณะนั้นว่า การประกอบใหม่นี้เป็นการยกเครื่องโครงสร้าง ระบบนำทาง และอาวุธใต้น้ำและระบบโซนาร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
Antara ระบุอีกว่า เรือดำน้ำลำนี้สามารถบรรทุกน้ำหนัก (deadweight) 1,395 ตัน มีความเร็วเดินทาง (cruising speed) อยู่ที่ 21.5 น็อต หรือ 39.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเรือดำน้ำพลังดีเซลที่สามารถสลับมาใช้พลังงานจากแบตเตอรีไฟฟ้าขณะอยู่ใต้น้ำ บรรทุกลูกเรือได้ 34 คน และทนแรงบีบอัดของน้ำได้ที่ความลึกไม่เกิน 250 เมตร
ฮาดี จายานโต ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซียเผยกับรอยเตอร์สว่า เรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 อยู่ระหว่างการซ้อมรบทางเรือนอกชายฝั่งเกาะบาหลี และขาดการติดต่อราว 04.30 น.
แถลงการณ์ของกองทัพเรือระบุว่า เป็นไปได้ว่าระหว่างกำลังดำน้ำ กระแสไฟฟ้าอาจขัดข้องจึงทำให้เรือเสียการควบคุม และระบบฉุกเฉินก็ไม่ทำงาน จากนั้นเรือจึงดิ่งลงไปที่ความลึก 600-700 เมตร ซึ่งเกินจากความสามารถของเรือ ทั้งยังระบุอีกว่าทะเลในบริเวณที่เรือดำน้ำ KRI Nanggala-402 ซ้อมรบตื้นกว่าบริเวณอื่นของเกาะ แต่ก็อาจลึกกว่า 1,500 เมตร
ทางกองทัพเรือคาดว่าคราบน้ำมันที่ลอยออกมาอาจเป็นสัญญาณว่าเรือได้รับความเสียหาย หรืออาจเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือมาจากลูกเรือ
Photo by Handout / INDONESIA MILITARY / AFP