นักวิทย์เตือนมีไวรัสที่ยังไม่ค้นพบอีก 1.7 ล้านไวรัส ครึ่งหนึ่งติดสู่มนุษย์และก่อโรคระบาดได้
รายงานของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่รวมตัวกันภายใต้หน่วยงานแพลตฟอร์มนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการบริการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (IPBES) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ยังมีเชื้อไวรัสอีกราว 1.7 ล้านไวรัสที่ยังไม่ถูกค้นพบอยู่ในธรรมชาติ และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งสามารถแพร่กระจายมาสู่มนุษย์และก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ได้
รายงานอธิบายว่า การระบาดของโรคทั้งหมดในปัจจุบันมีต้นกำเนิดมาจากจุลินทรีย์ที่มาจากสัตว์ แต่การอุบัติขึ้นมาของโรคเหล่านี้ล้วนมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และเกือบ 1 ใน 3 ของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอุบัติขึ้นเนื่องจากการลดลงของป่าไม้ซึ่งเพิ่มโอกาสในการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า สัตว์ที่เจริญเติบโตได้จากการที่ป่าลดลงอย่างค้างคาวและหนูมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะของโรคระบาดเหล่านั้น โดยทุกๆ ปีจะมีโรคจากสัตว์ที่แพร่มาสู่มนุษย์ราว 5 โรค ซึ่งใน 5 โรคนี้มีโอกาสที่จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนกลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า การเปลี่ยนแปลงการรับมือกับโรคระบาดจากการตั้งรับเป็นการป้องกันไว้ก่อน รวมถึงการลดกิจกรรมที่จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ ตัดไม้ทำลายป่า การซื้อขายสัตว์ป่า จะช่วยให้มนุษยชาติหลีกเลี่ยงจาก “ยุคแห่งโรคระบาด” ได้
นอกจากนี้ ยังเตือนว่า หากมนุษย์ยังไม่ลงมือทำ โรคระบาดจะอุบัติบ่อยขึ้น แพร่กระจายรวดเร็ว คร่าชีวิตประชาชนมากขึ้น และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล
Photo by Handout / National Institute of Allergy and Infectious Diseases / AFP