รัฐบาลทหารของเมียนมาคาดว่าการลงทุนจากประเทศในเอเชียจะดำเนินต่อไป แม้จะมีเสียงประณามมากขึ้นจากการรัฐประหารและตามด้วยการปราบปรามการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยอย่างรุนแรง
อ่อง นายง์ อู (Aung Naing Oo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศของสหภาพแรงงานกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่า “เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ เราคาดว่านักลงทุนดั้งเดิมจะยังคงทำธุรกิจที่นี่ รัฐบาลของพวกเขาไม่ได้บอกให้ บริษัทของพวกเขาไม่ลงทุนหรือทำธุรกิจในเมียนมา ดังนั้นเราจึงคาดหวังว่านักลงทุนจากประเทศเหล่านี้จะยังคงมาที่นี่ต่อไป”
ในขณะที่สหรัฐและพันธมิตรกำลังดำเนินการคว่ำบาตรต่อกองทัพและบริษัทบางแห่งลดขนาดการดำเนินงานในเมียนมาลง แต่เพื่อนบ้านในเอเชียส่วนใหญ่ละเว้นที่จะถอนตัวจากเมียนมา และทหารผู้กุมอำนาจยังว่าพันธมิตรในภูมิภาคจะยังคงมีส่วมร่วมกับเมียนมาต่อไปในระยะยาว
เมียนมาไม่ได้เพิ่งจะมาถูกคว่ำบาตรหลังการรัฐประหาร แต่ความสนใจในการลงทุนจากตะวันตกลดลงหลังจากรัฐบาลลพเรือนของเมียนมาและกองทัพถูกกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาตั้งแต่ปี 2560 หลังจากนั้นเมียนมาได้มุ่งเน้นไปที่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์และจีนเพื่อแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ
อ่อง นายง์ อูซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงในสมัยรัฐบาลพลเรือนมาตั้งแต่ต้นปี 2016 และรับตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงรัฐประหารกล่าวว่ารัฐบาลรัฐประหารคาดว่าจะเห็น “ผลกระทบเล็กน้อย” ต่อการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ได้พิจารณาแล้วก่อนที่จะมีการยึดอำนาจทางทหาร
“ที่จริงเราคาดการณ์ไว้แล้ว และเคยประสบกับความกดดันเช่นนี้ในอดีต มีแรงกดดันจากนานาชาติมีต่อเมียนมาในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้แม้กระทั่งในรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD” ซึ่ง NLD คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยอองซานซูจี
ความคิดเห็นของอ่อง นายง์ อูเกิดขึ้นเมื่อกองทัพเผชิญหน้ากับการประท้วงของข้าราชการและประชาชนทั่วไปซึ่งทำให้บริการสาธารณะและการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก วิกฤตดังกล่าวส่งผลให้บริษัท ต่างชาติบางแห่งยกเลิกการดำเนินการในเมียนมา ขณะที่กองทัพประกาศ “กฎอัยการศึกเต็มรูปแบบ” ในย่างกุ้งหลังจากมีรายงานว่าโรงงานกว่า 30 แห่งที่สร้างด้วยการลงทุนของจีนถูกทำลาย
“การประกันความปลอดภัยและการคุ้มครองโครงการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญของเรา นั่นคือเหตุผลที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยถูส่งไปในเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นเพื่อความปลอดภัยที่ดีขึ้น เราจะปกป้องพวกเขาไม่ให้ถูกทำลาย” อ่อง นายง์ อู กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2016-17 จนถึงเดือนมกราคม 2021 การลงทุนจากสหรัฐและยุโรปมีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์หรือน้อยกว่า 8% ของ FDI ที่ไหลเข้ามาในประเทศเมียนมาทั้งหมด การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้นคือ 45% มาจากสิงคโปร์ตามด้วยจีนที่ 14%
Photo by STR / AFP