จีนเลือกผู้กำหนดนโยบายธนาคารกลางรายใหม่เพื่อสนองแนวทางไปมุ่งเน้นที่การจัดการความเสี่ยง
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าจีนแต่งตั้งสมาชิกใหม่ 2 คนเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) ซึ่งมีสถานะเป็นธนาคารกลาง ขณะที่ทางการจีนเริ่มเปลี่ยนความสนใจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหันมาควบคุมความเสี่ยงทางการเงินในระบบเศรษฐกิจแทน
ไฉฟาง (Cai Fang) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลและหวางอี้หมิง (Wang Yiming) อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของสภาแห่งรัฐจะเข้าร่วมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางตามที่รัฐบาลระบุ
ในขณะที่หลิวเหวย (Liu Wei) และ หม่าจวิน (Ma Jun) ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการตั้งแต่ปี 2018 จะออกจากตำแหน่งตามวาระ 3 ปี แต่ หลิวซื่อจิน (Liu Shijin) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้เชี่ยวชาญสามคนจะยังคงดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป
การสับเปลี่ยนเกิดขึ้นในขณะ PBOC ที่เตรียมถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเมื่อปีที่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่กังวลเกี่ยวกับการก่อหนี้และความเสี่ยงของฟองสบู่ PBOC กล่าวว่าต้องการสร้างความสมดุลในการให้การสนับสนุนการเติบโตในขณะที่ลดความเสี่ยงทางการเงินไปด้วย ซึ่งเป็นการแถลงท่าทีที่ผู้ว่าการ อี้กัง (Yi Gang) ย้ำเมื่อวันอาทิตย์
อี้กังกล่าวปาฐกถาที่ China Development Forum ในปักกิ่งว่า PBOC ยังมีโอกาสในการปั๊มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกในขณะที่รักษาอัตราส่วนหนี้สินให้คงที่ เขากล่าวว่าสมดุลที่มีเสถียรภาพนี้ “ไม่เพียงแต่จะให้แรงจูงใจในเชิงบวกสำหรับผู้เล่นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสน้อยที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินด้วย”
ส่วนหวางอี้หมิงกล่าวในการอภิปรายเมื่อวันเสาร์ที่ฟอรัมเดียวกันกล่าวย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลที่จะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
“เมื่อพิจารณาถึงความไม่สม่ำเสมอของโครงสร้างในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความจริงที่ว่าธุรกิจขนาดเล็กยังคงเผชิญกับความท้าทาย นโยบายมหภาคจะคงความเข้มข้นที่จำเป็นเพื่อรองรับการฟื้นตัว” หวางอี้หมิงกล่าว เขาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 5% ต่อปีเป็น 5.5% ในช่วงห้าปีข้างหน้า แต่กล่าวว่าการคาดการณ์ที่แม่นยำนั้นยากที่จะให้ได้เนื่องจากความไม่แน่นอนภายนอกประเทศที่รุนแรง
ภาพประกอบ อี้กัง ผุ้วา่การ PBOC - AFP PHOTO / Saul LOEB