หลังจากจัดการกับ Alibaba ของ แจ็ก หม่า แล้ว เป้าหมายต่อไปของรัฐบาลจีนคือ Tencent ของ โพนี่ หม่า
ระยะหลังนี้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนถูกทางการไล่กดดันอย่างหนักหลังจากขยายตัวจนมีอิทธิพลกับชีวิตชาวจีนแทบจะทุกด้าน ประเดิมด้วย Alibaba (อาลีบาบา) ของ แจ็ก หม่า เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว จู่ๆ ทางการจีนก็สั่งระงับการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ของ Ant Group (แอนท์ กรุ๊ป) แบบฟ้าผ่าในช่วงนาทีสุดท้าย
ตามด้วยการออกกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการป้องกันการผูกขาดตลาด ที่ทำให้ Ant ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็นบริษัทโฮลดิงและต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ต่างจากธนาคาร จนถึงการกดดันให้ขายหุ้นสื่อในมือ และล่าสุดคือ สั่งลบ UC Browser เว็บเบราว์เซอร์ที่พัฒนาโดย Alibaba ออกจากแอปสโตร์
ทั้งหมดทั้งมวลนี้สร้างแรงสะเทือนมหาศาลถึงขั้นทำให้ แจ็ก หม่า เสียบัลลังก์คนรวยที่สุดในประเทศจีน
ขณะนี้เกิดความกังวลว่าเป้าหมายต่อไปของรัฐบาลจีนจะเป็น Tencent (เท็นเซ็นต์) ของ โพนี่ หม่า ซึ่งเป็นคู่แข่งกับอาลีบาบา
Tencent เป็นหนึ่งในบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของจีน แอพพลิเคชั่น WeChat ของ Tencent มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน และยังเป็นผู้เล่นหลักในตลาดการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล โดยแอพพลิเคชั่น WeChat Pay มีส่วนแบ่งการตลาดราว 40% เป็นรองเพียง AliPay ของ แจ็ก หม่า เท่านั้น WeChat Pay ยังปล่อยเงินกู้และการบริหารจัดการความมั่งคั่งเหมือน Alipay เป๊ะ แม้จะไม่ใหญ่เท่าก็ตาม
จะเห็นว่า Tencent แทบไม่ต่างจาก Alibaba ในแง่ของความทรงอิทธิพลในตลาดฟินเทค
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าท้ายที่สุดแล้วชะตากรรมของ Tencent คงไม่ต่างจาก Alibaba คือ ต้องแยกตัวออกมาตั้งบริษัทโฮลดิงเพื่ออยู่ใต้กฎเกณฑ์ของทางการจีน
หากรัฐบาลจีนลงดาบ Tencent ด้วยวิธีการเดียวกับ Alibaba จะทำให้ Tencent ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ยืมสำหรับรายย่อยและไม่สามารถขยับขยายกิจการได้รวดเร็วเช่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้อีก
ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงพากันทิ้งหุ้น Tencent จนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (12 มี.ค.) หุ้นร่วง 4.4% และเมื่อเปิดตลาดหุ้นในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ก็ดิ่งลง 4% มูลค่าหายไปราว 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
2 วันดังกล่าวเกิดเหตุการณ์พลิกผันกับ Tencent หลายอย่าง โดยเมื่อวันศุกร์คณะกรรมการปราบปรามการผูกขาดตลาดสั่งปรับ Tencent 500,000 หยวน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของกฎหมายปัจจุบัน โทษฐานที่ Tencent เข้าไปลงทุนในแอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา Yuanfudao เมื่อปี 2018 โดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางการก่อนทำข้อตกลง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายผูกขาดการค้า
ขณะที่เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง สั่งให้คณะกรรมการป้องกันการผูกขาดทางการค้าเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบรรดาบริษัทเทคโนโลยี ปราบปรามการผูกขาดทางการค้า และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
และก่อนหน้านี้ยังมีการส่งสัญญาณมาจากนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ว่าจะเดินหน้าควบคุมบริษัทฟินเทครายใหญ่ หลี่เค่อเฉียงประกาศกลางที่ประชุมสภาประชาชนว่า ทางการจะขยายการกำกับดูแลบริษัทฟินเทค ขจัดการผูกขาดทางการค้า และป้องกันไม่ให้เกิดการขยายการลงทุนโดยไม่สามารถควบคุมได้
บุคคลวงในที่รับรู้ความคิดของทางการจีนเผยว่า การปรับ Tencent เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ทางการจีนยังมอง Tencent เป็นเป้าหมายที่จะต้องจัดการต่อไป หลังจากทำแบบนี้กับ Alibaba และ Ant ของ แจ็ก หม่า ไปแล้ว
ฟรานซิส ชาน นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence ประเมินความเสียหายของ Ant หลังจากต้องยกเครื่องบริษัทกันใหม่ว่า มูลค่าจะลดลงไปถึง 60% จากที่ตั้งเป้าไว้เมื่อปีที่แล้วที่ 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่สำหรับ Tencent นั้น Bloomberg Intelligence วิเคราะห์ว่า ฟินเทคไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดและทำกำไรมากที่สุดของ Tencent ความเสียหายจึงอาจไม่มากเท่า Alibaba
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้ง Alibaba และ Tencent จะเป็นเคสตัวอย่างให้กับบริษัทฟินเทครายอื่น เพราะทางการจีนขึ้นชื่อเรื่องการเชือดบริษัทใหญ่ๆ ให้ลิงตัวอื่นๆ ทำตามกฎที่รัฐบาลตั้งขึ้นอยู่แล้ว