ยานสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซาลงจอดได้สำเร็จ พร้อมเดินหน้าภารกิจสำรวจร่องรอยสิ่งมีชีวิตเมื่อ 3,000 ล้านปีก่อน
ในที่สุดยานสำรวจดาวอังคารเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (NASA) ก็ลงจอดที่พื้นผิวของดาวอังคารได้สำเร็จราบรื่นเมื่อเวลา 15.55 น.ของวันที่ 18 ก.พ.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 03.55 น.ของวันที่ 19 ตามเวลาประเทศไทย ท่ามกลางการลุ้นของนักวิทยาศาสตร์นาซา
การลงจอดครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายและยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการสำรวจอวกาศ เนื่องจากยานต้องส่งหุ่นยนต์ลงจอดภายในแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) ที่มีความกว้าง 45 กิโลเมตรอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร และเป็นพื้นที่ที่เคยมีทะเลสาบอยู่
ภายหลังลงจอดสำเร็จยานได้ส่งภาพขาวดำพื้นผิวของดาวภาพแรกกลับมายังโลก โดยหนึ่งในภาพนั้นเป็นภาพเงาของแขนกลของยานที่ตกลงบนพื้นผิวดาวอังคาร
ภารกิจของนายเพอร์เซเวียแรนซ์คือ การค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตอย่างจุลินทรีย์ที่เคยมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารเมื่อราว 3,000 ล้านปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารมีสภาพอุ่นกว่า ชื้นมากกว่า และเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้ รวมทั้งการเก็บตัวอย่างดินและหินของดาวกลับมายังโลก
สตีฟ ยูร์จิค รักษาการผู้อำนวยการนาซาเผยถึงภารกิจนี้ว่า “เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งมาก” ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทวีตว่า “วันนี้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และความเป็นคนช่างประดิษฐ์ของคนอเมริกัน ไม่มีอะไรอยู่เหนือขอบเขตของความเป็นไปได้”
ทั้งนี้ ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ใช้เวลาเดินทางจากพื้นโลกเกือบ 7 เดือน ด้วยระยะทาง 472 ล้านกิโลเมตร ส่วนตัวยานมีขนาดใหญ่ประมาณรถเอสยูวี น้ำหนักราว 1 ตัน และซับซ้อนกว่ายานอื่นๆ ที่เคยลงจอดบนดาวอังคารก่อนหน้านี้ และยังมาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจ อาทิ แขนกลยาว 2 เมตร กล้อง 19 ตัว ไมโครโฟน 2 ตัว
ภารกิจนี้ใช้เวลาราว 2 ปี และมีมูลค่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
Photo by Handout / NASA / AFP