เมื่อความเหงารุนแรงกว่าที่คิด นายกญี่ปุ่นจึงตัดสินใจแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา
โยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแต่งตั้ง เทตสึชิ ซากาโมโต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยวซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีรายงานพบว่ามีการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2020 ด้วยจำนวนผู้หญิงและเยาวชนที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
ตามรายงานระบุว่าอัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงเพิ่มขึ้น 14.5 เปอร์เซ็นต์โดยมีจำนวนทั้งหมดถึง 6,976 คน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ในขณะที่การฆ่าตัวตายของผู้ชายลดลง 1 เปอร์เซ็นต์เป็น 13,943 เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน
ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่าความเหงาเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังหลายโรค อาทิ โรคเบาหวานและโรคหัวใจ เพราะความโดดเดี่ยวทำให้ผู้คนแยกตัวออกจากสังคมเกิดพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพไม่ว่าจะเป็น ไม่ออกกำลังกาย ไม่ชอบไปหาหมอ ส่งผลต่อความเครียดและความดันโลหิต
นายกรัฐมนตรีซูกะกล่าวว่า "ชาวญี่ปุ่นโดดเดี่ยวและเกิดความเหงาเมื่อไม่ได้พบปะสังสรรค์ โดยผู้หญิงทุกข์ทรมานจากความโดดเดี่ยวมากกว่าผู้ชาย และจำนวนการฆ่าตัวตายก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ผมหวังว่าซากาโมโตจะสามารถเข้าถึงปัญหาและส่งเสริมมาตรการเชิงนโยบายอย่างครอบคลุม"
ซูกะยังเผยว่าได้วางแผนที่จะจัดเวทีฉุกเฉินในปลายเดือนกุมภาพันธ์เพื่อรับฟังผู้เชี่ยวชาญและหารือเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุน "เพื่อป้องกันความเหงาและความโดดเดี่ยวทางสังคมและเพื่อปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน"
ทั้งนี้ซากาโมโตจะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาความโดดเดียวของประชาชนในเชิงลึก และรัฐบาลญี่ปุ่นจะขยายบริการให้คำปรึกษาและแนะนำองค์กรสนับสนุนแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปตัวเลขเริ่มสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
Photo by DAVID MAREUIL / POOL / AFP