งานวิจัยใหม่เผยพบไวรัสใกล้เคียงไวรัสต้นตอโควิด-19 ในค้างคาวไทย
บีบีซีรายงานว่างานวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร Nature Communications ซึ่งนำโดยนักวิจัยจากประเทศไทยและสิงคโปร์ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) อาจแพร่ระบาดในกลุ่มค้างคาวหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย
โดยงานวิจัยระบุว่าพบไวรัสที่ใกล้เคียงกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมในระดับสูงกับ Sars-CoV-2 จากค้างคาวเกือกม้า 5 ตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของประเทศไทย และคาดว่าไวรัสที่คล้ายกันนี้อาจมีอยู่ในค้างคาวหลายประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงจีนและญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับทีมองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งลงพื้นที่สืบหาต้นตอของโรคโควิด-19 โดยชี้ว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นค้างคาวก่อนที่จะแพร่ระบาดสู่มนุษย์ แต่ก็ยังไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัด
ศาสตราจารย์หวังหลินฟา หนึ่งในทีมวิจัยจากสิงคโปร์ระบุว่าจากการตรวจสอบค้างคาวจากประเทศไทยพบไวรัส RacCS203 ซึ่งมีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับ Sars-CoV-2 ถึง 91.5%
นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาอีกตัวหนึ่งซึ่งเรียกว่า RmYN02 ซึ่งพบในค้างคาวจากยูนนาน ประเทศจีน โดยมีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับ Sars-CoV-2 ถึง 93.6%
ด้านทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าเลือดของค้างคาวฝูงดังกล่าวมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับ Sars-CoV-2 สูงถึง 91.5%
ข้อกังวลใหญ่อีกประการคือไวรัสโคโรนาสามารถแพร่ระบาดระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้อีกหลายชนิด เช่น สุนัข แมว และมิงค์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "เราจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังสัตว์ต่างๆ มากขึ้น รวมถึงนอกพื้นที่พรมแดนประเทศจีนเพื่อหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของไวรัส"