WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 กุมภาพันธ์ 2564 : 19:41 น.

งานวิจัยเผยมลพิษทางอากาศรวมถึง PM 2.5 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนต่อปี

งานวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร Environmental Research เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม, มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน พบว่าในปี 2018 ผู้คนมากกว่า 8.7 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากฝุ่นละอองจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงฝุ่นพิษอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5

ฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมันนอกจากจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วยังส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็นเกือบ 20% หรือเกือบ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก ในปี 2018

นักวิจัยยังประมาณการว่าในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลกเนื่องจากมลพิษในอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองและควันจากไฟป่าและการเผ้าไหม้ทางการเกษตร

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งเล็กพอที่จะเข้าไปในปอดและส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง เช่น โรคหอบหืด หรืออาจนำไปสู่มะเร็งปอดตลอดจนส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองนำไปสู่การเสียชีวิตในประชาชนบางราย

งานวิจัยยังระบุว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นลงมากกว่า 2 ปี โดยอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในเอเชียลดลงถึง 4.1 ปี

โดยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากถึง 30.7% ในเอเชียตะวันออก, 16.8% ในยุโรป และ 13.1% ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อเทียบกับสาเหตุของการเสียชีวิตอื่นๆ มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าโรคมาลาเรียถึง 19 เท่าในแต่ละปี มากกว่าการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ 9 เท่า และมากกว่าการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ 3 เท่า

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ