WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

30 กันยายน 2561 : 23:10 น.

วิวาทะเรื่องโขนกับละโคนโขลระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชายังคงคุกรุ่น และยังมีทีท่าว่าจะลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีนาฏศิลป์คล้ายๆ กัน

 

ประเด็นนี้เป็นปัญหาระหว่างชาติต่อเนื่องกันมานานถึง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2016 ปี 2017 และปี 2018 ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างผลัดกันประกาศท่าทีที่จะยื่นขึ้นทะเบียน “โขน” และ “ละโคนโขล” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จนประชาชนทั้งสองฝ่ายแสดงท่าทีคัดค้าน โดยอ้างว่า “โขน/โขล” เป็นของพวกเขาไม่ใช่ของอีกฝ่าย

คำถามก็คือ โขน/โขล มีที่มาจากไหน และควรเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมหรือไม่? เพราะการกล่าวว่าสิ่งหนึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมโดยไม่มีการอ้างที่มาอย่างชัดเจน อาจเป็นการลดทอนความสำคัญของบรรพบุรุษผู้คิดค้นนาฏศิลป์ชนิดนี้ขึ้น ดังนั้น M2F จึงขอรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อชี้ให้ชัดว่า ตกลงแล้วโขนกับโขลอย่างไหนเป็นต้นฉบับ

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า โขนในไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่เราสามารถทราบได้ว่า โขลในกัมพูชารับมาจากราชสำนักไทยแน่นอน เช่น ในงานวิชาการเรื่อง “วาทกรรมนาฏศิลป์ราชสำนักกัมพูชายุคหลังอาณานิคม” โดย ซาซากาวาา ฮิเดโอะ ในวารสาร Southeast Asian Studies ฉบับที่ 42 มี.ค. 2005 ชี้ว่า ในรัชสมัยนักองค์ด้วง กัมพูชาอยู่ภายใต้อำนาจสยาม และรับนาฏศิลป์จากสยามไปเผยแพร่ หลังจากกัมพูชาเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว นาฏศิลป์ในราชสำนักยังถือว่าสยามเป็นต้นแบบ

จนกระทั่งสยามต้องเสียเมืองเสียมราฐและนครวัดให้กับฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจึงเริ่มประดิษฐ์เรื่องเล่าใหม่เกี่ยวกับนาฏศิลป์กัมพูชา โดยอ้างว่าสืบทอดมาจากยุคนครวัดอันยิ่งใหญ่ และพยายามปกปิดว่ารับต้นแบบมาจากไทย เพื่อกลบเกลื่อนความเชื่อมโยงระหว่างกัมพูชากับไทย จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในกัมพูชาจึงเริ่มคิดว่าเรื่องนี้เป็นความจริง เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า เวียง ทูน ที่อธิบายว่า นาฏศิลป์ในราชสำนักสืบทอดมาจากยุคนครวัดไม่ได้รับมาจากไทย ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้า เวียง ทูน เป็นขุนนางคนสำคัญ และเคยไปฝรั่งเศสพร้อมกับ โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กัมพูชาตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส และทำให้ไทยเสียดินแดนหลายครั้ง

ฮิเดโอะ จากสถาบันวัฒนธรรมเอเชียและ ม.โซเฟีย ชี้ว่า ขณะที่กัมพูชาอ้างเรื่องเล่าที่ฝรั่งเศสประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (เพื่อหวังผลทางการเมือง) ตำราวิชาการในภาษาอังกฤษที่ใช้กันในระดับสากล กลับระบุตรงกันว่า นาฏศิลป์กัมพูชาได้รับอิทธิลจากสยาม เช่น นักวิจัยชาวอเมริกันชื่อ พอล คราแวท (Paul Cravath) ผู้เขียนหนังสือสืบสาวประวัติการละครในกัมพูชาเรื่อง Earth in Flower ชี้ว่า เครื่องแต่งกายโขนละครในรัชสมัยนักองค์ด้วงมีการเปลี่ยนแปลงโดยเลียนแบบของสยาม และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม มีนักแสดงจากสยามหลายคนในราชสำนักกัมพูชา

หลังจากกัมพูชาตกเป็นของฝรั่งเศสแล้ว นักวิชาการฝรั่งเศสพยายามยัดเยียดว่า การแสดงของกัมพูชาสืบทอดมาจากยุคนครวัด เช่น ฌอง มูรา (Jean Moura) ที่ยืนยันว่า เครื่องแต่งกายของภาพสลักที่นครวัดกับนักแสดงโขนในราชสำนักกัมพูชามีความคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม มูราไม่ทันสังเกตว่า การที่เขาบอกว่าโขนกัมพูชาแสดงเรื่องรามเกียรติ์เท่ากับเป็นการยืนยันโดยไม่ตั้งใจว่า โขนกัมพูชารับมาจากสยาม เพราะเรื่องรามเกียรติ์พากย์ภาษาเขมรนั้น รับมาจากราชสำนักสยาม

ในส่วนของบทพากย์รามเกียรติ์ในเขมรนั้น รศ.ศานติ ภักดีคำ กล่าวไว้ในหนังสือประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม 3 (คำพากย์รามเกียรติ์ภาษาเขมร) ของกรมศิลปากร ว่า บทพากย์รามเกียรติ์ของเขมรนั้นมีอายุน้อยกว่าฉบับภาษาไทย น่าจะได้ไปจากบทพากย์สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างแน่นอน เพราะสำนวนมีความคล้ายกันอย่างมาก

คำอ้างที่ชาวกัมพูชามักยกขึ้นมาโต้เถียงคือ ไทยขโมยโขนไปจากกัมพูชา เมื่อคราวที่กองทัพไทยสมัยอยุธยามาตีเมืองนครธมแล้วกวาดต้อนครูนาฏศิลป์ไปด้วย วาทกรรมนี้เกิดขึ้นจากชาวฝรั้่งเศสเช่นกัน เช่น ข้ออ้างของ อะเดมาด เลอแคลร์ (Adémard Leclère) ชาวฝรั่งเศสที่เขียนบทความเรื่องนาฏศิลป์เขมร ที่แม้จะไม่อาจบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงได้ว่า โขนละครเขมรสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดมใช้ภาษาไทยและมีนักแสดงจากไทยในคณะ แต่กลับอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า แม้จะได้จากไทยแต่ไทยรับมาจากเขมรยุคนครวัดอีกทอดหนึ่ง การอ้างนี้ถูกซาฮิเดโอะตำหนิว่าไม่มีมูล และชี้ว่า หากไทยรับไปจากยุคนครวัดจริงก็ต้องมีการปรับให้เป็นเอกลักษณ์ไทย จนกลายเป็นแบบฉบับไทย ไม่ใช่รับจากศตวรรษที่ 13 โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน

โดยรุปก็คือ วิธีคิดที่บิดเบี้ยวของชาวกัมพูชาที่อ้างว่าโขนเป็นของพวกเขา เกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงของฝรั่งเศส และความรู้สึกชาตินิยมอย่างแรงกล้า จนขาดการไตร่ตรองหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จนทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนไป แต่โชคดีที่นักวิชาการนานาชาติยุคปัจจุบันไม่เชื่อว่า โขลของเขมรเป็นต้นฉบับ ส่วนโขนไทยนั้น “ขโมย” มา

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ