เหตุใดยังมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากคลื่นสึนามิ ทั้งๆ ที่มีการติดตั้งระบบเตือนภัยมานานหลายปีแล้ว บางกระแสชี้ว่า เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ประกาศยุติคำเตือนภัยสึนามิเร็วเกินไป
ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมืองปาลู บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย วานนี้อยู่ที่ 823 คน และหวั่นเกรงกันว่าตัวเลขอาจทะลุหลักพัน องค์การกาชาดประเมินว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ถึง 1.6 ล้านคน แต่ประเด็นที่หลายกังขาก็คือ เหตุใดยังมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากคลื่นสึนามิ ทั้งๆ ที่มีการติดตั้งระบบเตือนภัยมานานหลายปีแล้ว บางกระแสชี้ว่า เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ประกาศยุติคำเตือนภัยสึนามิเร็วเกินไป
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นอีกนอกเหนือจากความผิดพลาดของตัวบุคคล ที่ทำให้ให้สึนามิคร่าชีวิตชาวปาลูไปมากมายอย่างไม่ควรจะเป็น
ที่จริงแล้ว มีแผนการที่จะวางระบบเซ็นเซอร์ไว้ที่พื้นทะเล รวมถึงข้อมูลคลื่นเสียง และเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อแทนที่ระบบเตือนภัยแบบเดิม หลังจากเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2004 แต่เนื่องจากองค์กรต่างๆ ขัดแย้งกันเอง และยังมีความล้าช้าด้านอื่นๆ ทำให้โครงการติดตั้งระบบเตือนภัยไฮเทคได้รับงบประมาณแค่ 69,000 เหรียญสหรัฐ เทียบกับมูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ของระบบต้นแบบที่พัฒนาโดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ
ระบบที่มีอยู่จึงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก อีกทั้งประชาชนท้องถิ่นยังมีความรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับสึนามิ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูด ตามด้วยคลื่นยักษ์สูง 6 ม. ทุกอย่างจึงสายเกินการณ์ ส่วนทุ่นทั้ง 22 ตัวก็ไม่มีตัวไหนที่ทำงานเลย กรณีที่เกิดขึ้นที่สุลาเวสี หน่วยงานรับผิดชอบยกเลิกการเตือนภัยเร็วเกินไป เพราะไม่ได้รับข้อมูลจากปาลู ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระบบเตือนภัยจะต้องส่งไปให้หน่วยงานดังกล่าวทำการประเมิน
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวเวลา 18.00 น. สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและสำนักงานธรณีฟิสิกส์ มีประกาศเตือนภัยสึนามิความสูงของคลื่น 0.5-3 ม. แต่ยกเลิกคำเตือนเมื่อเวลา 18.36 น. ทำให้เกิดกระแสโจมตีหน่วยงานดังกล่าวว่า ยกเลิกคำเตือนเร็วเกินไป แต่หัวหน้าหน่วยงานยืนยันว่า มีคำสั่งยกเลิกหลังเกิดสึนามิแล้ว ทว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คลื่นเข้าถล่มเมืองปาลูเมื่อเวลาใดกันแน่
ลูอีส คอมฟอร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า อุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของคลื่นยังทำงานอยู่ แต่มีข้อจำกัดในการเตือนภัยล่วงหน้า
คอมฟอร์ตยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโศกนาฏกรรมทางวิทยาศาสตร์ และยิ่งกว่านั้นเป็นโศกนาฏกรรมของชาวอินโดนีเซีย และกล่าวว่า รู้สึกหัวใจสลายที่เห็นความสูญเสีย ทั้งๆ ที่มีเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่ออกแบบมาอย่างดี และสามารถให้ข้อมูลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้
ด้าน อดัม ชวิตเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิ จากหอสังเหตุการณ์โลกที่สิงคโปร์ กล่าวว่า การกล่าวโทษหน่วยงานด้านแผ่นดินไหวออกจะไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อย เพราะสิ่งที่เห็นคือรูปแบบคลื่นสึนามิที่เรียบง่ายเกินไป ทั้งๆ ที่จะต้องพิจารณาเหตุการณ์แวดล้อมหลายเหตุการณ์ เช่น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นหลายครั้งภายในช่วงเวลาสั้นๆ รวมถึงแผ่นดินถล่มใต้น้ำ ไม่ว่าจะใช้ระบบใดก็ตาม เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ชายฝั่ง สิ่งแรกที่จะต้องทำคือขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง และต้องอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาสักสองสามชั่วโมง
ฮาร์กุนตี พี. ราฮายู ผู้เชี่ยวชาญชาวอินโดนีเซีย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งบันดุง กล่าวว่า หลังแผ่นดินไหวเกิดไฟฟ้าดับ ทำให้สัญญาณไซเรนเตือนภัยไม่ทำงาน อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังรู้สึกช็อกกับแผ่นดินไหว จนไม่มีใครมีเวลาจะมาใส่ใจว่าสึนามิกำลังจะเข้าถล่ม