ย้อนไทม์ไลน์ม็อบฮ่องกง ทำไมมักถูกเปรียบเทียบกับม็อบไทยปัจจุบันหมือนหรือแตกต่าง
การประท้วงในฮ่องกงเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ถอน "ร่างรัฐบัญญัติกฎหมายหนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) 2019" หรือ "กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน" เนื่องจากเกรงว่าฮ่องกงอาจตกลงกับจีนเพื่อส่งตัวนักเคลื่อนทางการเมืองในฮ่องกงไปยังจีนได้
นี่คือจุดเริ่มต้นของการประท้วงยืดเยื้อข้ามปี เต็มไปด้วยแท็คติกการประท้วงและการปราบจลาจลต่างๆ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้การประท้วงในประเทศอื่นๆ รวมถึงการประท้วงล่าสุดในไทย จนเรียกกันว่าเป็น "ฮ่องกงโมเดล" แต่ฮ่องกงโมเดลเป็นอย่างไร? และเหมือนกับไทยตรงจุดไหน เราจะมาย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของมันอย่างละเอียดกัน
1. มีนาคม 2562 เริ่มมีประชาชนชาวฮ่องกงเล็งเห็นถึงช่องโหว่ของร่างกฎหมายและมองว่าชาวฮ่องกงจะตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน และจีนอาจตั้งข้อหาใครก็ได้ที่เล็งเห็นว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง
2. เมษายน 2562 ประชาชนเริ่มเดินขบวนประท้วงร่างกฎหมายนี้อีกครั้งพร้อมกล่าวว่าจะยกรับดับการประท้วงหากรัฐบาลยังไม่ถอนร่างกฎหมาย
3. พฤษภาคม 2562 ประชาชนจัดกิจกรรมประท้วงและถูกปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมออกหมายจับผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมากท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุทั้งที่ประชาชนชุมนุมโดยสงบ
4. มิถุนายน 2562 เกิดการประท้วงโดยแนวร่วมสิทธิมนุษชนพลเมือง ส่งผลให้ชาวฮ่องกงในพื้นที่อื่นๆ พากันประท้วงในพื้นที่ของตน จนกระทั่ง แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงแถลงเลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายอย่างไม่มีกำหนด แต่เป็นเพียงการ "เลื่อน" เท่านั้นไม่ใช่การถอน จนมีการฆ่าตัวตายประท้วงและเกิดการประท้วงใหญ่ตามมาเพื่อกดดันให้ถอนร่างกฎหมายและบีบให้ผู้บริหารฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง
5. การประท้วงลุกลามขึ้นจนกลายเป็นการใช้ความรุนแรง เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน รวมถึงมีการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจและปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกตับตัวไป
6. สิงหาคม 2562 การประท้วงยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการจุดไฟเผาและปาระเบิดขวด ซึ่งมีรายงานผู้บาดเจ็บที่ต้องนำส่งโรงพยาบาลถึง 46 ราย และดำเนินไปเช่นนั้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือนธันวาคมโดยไม่มีทีท่าจะยุติลง
7. มกราคม 2563 มีการชุมนุมประท้วงรับปีใหม่ ตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาขณะผู้ประท้วงใช้ระเบิดเพลิงตอบโต้ โดยในวันขึ้นปีใหม่ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงที่ก่อความรุนแรงได้กว่า 400 คน
8. พฤษภาคม 2563 รัฐบาลจีนพิจารณาออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทังนี้กฎหมายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนในการควบคุมการประท้วงในฮ่องกง โดยแคร์รี หลั่ม เผยว่ารัฐบาลจะรองรับกฎหมายดังกล่าวโดยเร็วเพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในฮ่องกง
9. มิถุนายน 2563 ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ร่วมกิจกรรม
10. การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปโดยมักจะดำเนินการในรูปแบบแฟลชม็อบ และนัดพบตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งใกล้เคียงกับการชุมนุมประท้วงของไทยในขณะนี้ที่มักจะนัดชุมนุมตามสถานีรถไฟฟ้าและรวบตัวกันอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ
11. จนกระทั่งสี จิ้นผิง ลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงซึ่งครอบคลุมถึงการบ่อนทำลาย การแบ่งแยกดินแดน การก่อการร้าย และสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ โดยกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ส่งผลให้จีนมีอำนาจในการตัดสินบางคดีอีกด้วย
12. โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า "นี่เป็นจุดสิ้นสุดของฮ่องกงที่โลกเคยรู้จัก" ด้านพรรคเดโมซิสโต พรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยประกาศยุบพรรคและยุติการปฏิบัติงานทั้งหมด
13. อย่างไรก็ตาม แคร์รี่ หลั่ม มีเพียงผู้คนส่วนน้อยในฮ่องกงที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเสรีภาพทางการเมือง สิทธิขั้นพื้นฐาน ชีวิตและทรัพย์สินของชาวฮ่องกง
14. การประท้วงในฮ่องกงถูกเรียกว่าเป็นการประท้วงในรูปแบบ "ไร้ผู้นำ" โดยไม่มีคนกลุ่มใดหรือพรรคการเมืองใดเสนอตัวเป็นแกนนำประท้วง โดยผู้ประท้วงจะใช้ LIHKG (เว็บไซต์ฟอรัมออนไลน์คล้ายเรดดิต) และเทเลแกรม ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจแนวทางการประท้วงร่วมกัน ทั้งนี้การประท้วงที่เกิดขึ้นมีสัดส่วนของเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในประเทศไทยหลังแกนนำถูกจับกุมก็เป็นการชุมนุมประท้วงโดยไร้แกนนำและเริ่มมีการใช้แอพพลิเคชั่นเทเลแกรมในการกระจายข้อมูลข่าวสารในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงได้อย่างรวดเร็ว
15. กลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงมีแนวคิดในการทำตัวให้ "เปรียบเสมือนน้ำ" ซึ่งเป็นปรัชญาของบรูซ ลี ในการเคลื่อนที่แบบคล่องแคล่วว่องไวให้ตำรวจจับตัวได้ยาก ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในไทยก็มีการพูดถึงแนวคิดดังกล่าวและแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็วและว่องไว
รวมถึงฮ่องกงยังใช้วิธีกลุ่มดำ (black bloc) โดยการสวมเสื้อและหน้ากากสีดำเพื่อปกปิดรูปพรรณของตนและมักจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ใช้ในการรับมือกับตำรวจเช่นการยิงแสงเลเซอร์ให้ตำรวจไขว้เขว การพ่นสีใส่กล้องวงจรปิด และใช้ร่มในการป้องกันตัว
โดยหลังจากที่ผู้ชุมนุมไทยถูกสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงสูงที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ส่งผลให้ภายหลังผู้ชุมนุมมักแต่งกายสีดำพร้อมหน้ากาก ร่ม และหมวก เพื่อป้องกันตัวและปิดบังใบหน้า
16. นอกจากการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงแล้ว ฮ่องกงยังมีการประท้วงด้วยวิธีการอื่นๆ อาทิ นัดหยุดงานประท้วง ขัดขวางชนส่งสาธารณะ คว่ำบาตรร้านค้าและองค์การที่นิยมรัฐบาลจีน สร้างงานดัดแปลงล้อเลียนตำรวจและรัฐบาล รวมถึงทำลายสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งวิธีการคว่ำบาตรก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้ชุมนุมประท้วงในไทยนิยมใช้และรณรงค์คว่ำบาตรบริษัทหรือหน่วยงานที่พฤติกรรมขัดต่อประชาธิปไตย
17. เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงถูกตราหน้าโดยประชาชนจำนวนหนึ่งว่าประพฤติมิชอบและใช้กำลังเกินกว่าเหตุ อาทิ การใช้กระสุนยางเล็งที่ศีรษะหรือลำตัวผู้ประท้วง ใช้แก๊สน้ำตาเพื่อเป็นอาวุธโจมตีประชาชน วางกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ปฏิเสธการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ จับกุมนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงหลายคน ปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกกักขังติดต่อกับทนาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงเสรีภาพสื่อโดยมีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
ภาพชุดเปรียบเทียบประท้วงในไทย-ฮ่องกง
Photos by Lillian SUWANRUMPHA and Philip FONG / AFP
Photos by Jack TAYLOR and Anthony WALLACE / AFP
Photos by Jack TAYLOR and Vivek Prakash / AFP
Photos by Lillian SUWANRUMPHA and Philip FONG / AFP
Photos by Mladen ANTONOV and NICOLAS ASFOURI / AFP