ย้อนรอยความขัดแย้งอาเซอร์-อาร์เมเนีย ความบาดหมางเหนือดินแดนพิพาทนานหลายทศวรรษ
1. อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานมีความขัดแย้งกันเนื่องจากข้อพิพาทเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นดินแดนที่นานาชาติยอมรับว่าภูมิภาคนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นอาร์เมเนีย
2. ในสมัยโบราณดินแดนแถบนี้มีชนชาติอาร์เมเนียนและอาเซอรีอาศัยคละเคล้ากัน เมื่อตั้งประเทศอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานทำให้มีคนทั้งสองเชื้อชาติพลัดหลงอยู่ในดินแดนของกันและกัน
3. นากอร์โน-คาราบัคก็เป็นดินแดนพลัดหลงแห่งหนึ่ง โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์แต่ถูกแยกดินแดนไปอยู่ในใจกลางของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สภาพของนากอร์โน-คาราบัคเป็นเหมือนไข่แดงที่ถูกล้อมด้วยดินแดนของอาเซอร์ไบจาน
4. เหตุการณ์แยกดินแดนนากอร์โน-คาราบัคเกิดขึ้นหลังจากที่อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่โซเวียตได้มอบดินแดนนากอร์โน-คาราบัคให้แก่อาเซอร์ไบจานทั้งที่เป็นดินแดนของชาวอาร์เมเนีย โดยที่อาร์เมเนียพยายามทวงดินแดนนี้มาเป็นของตนแต่โซเวียตไม่ฟัง
5. ความขัดแย้งในระดับสงครามจึงระงับไปเมื่อสหภาพโซเวียตสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ดังกล่าว แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย นากอร์โน-คาราบัคกลับมาเป็นประเด็นพิพาทระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานอีกครั้ง
6. หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อาร์เมเนียก็ทวงดินแดนนากอร์โน-คาราบัคในทันทีในปี 1991 (ในทางปฏิบัติเริ่มในปี 1988) จนกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่พัวพันทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนากอร์โน-คาราบัคและระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน
7. สงครามนี้อาร์เมเนียเป็นฝ่ายได้เปรียบสามารถบุกเข้าไปยึดดินแดนของอาเซอร์ไบจานได้ถึง 14% จนกระทั่งในปี 1994 สงครามนากอร์โน-คาราบัคสิ้นสุดลงด้วยการหยุดยิงโดยมีรัสเซียเป็นคนกลางเจรจา
8.ในทางนิตินัยทั่วโลกยอมรับว่าอาเซอรไบจานคือเจ้าของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค แต่ในทางปฏิบัติภูมิภาคประกาศตัวเป็นเอกราชในชื่อสาธารณรัฐอาร์ตซัคที่มีชาวอาร์เมเนียปกครอง ด้วยประชากรอาร์เมเนียถึง 95% และประเทศอาร์เมเนียให้การสนับสนุน
9. นอกจากนี้ ยังมีการละเมิดการหยุดยิงหลายครั้งนับแต่นั้นมา การต่อสู้ระหว่างอาร์เมเนียและอาเชอร์ไบจานยืดเยื้อมายาวนานกว่าสามทศวรรษ และครั้งที่ร้ายแรงที่สุดคือในปี 2016 และในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ชายแดนระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน
10. ล่าสุดในเดือนกันยายน 2020 เกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานอีกครั้งโดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายรุกล้ำอธิปไตยของตน