Bloomberg ระบุว่า การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ต่างจากการประท้วงครั้งก่อนๆ
Bloomberg ระบุว่า การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ต่างจากการประท้วงครั้งก่อนๆนอกจากการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นที่สนอกสนใจของคนไทยแล้ว บรรดาสื่อต่างชาติก็พากันเกาะติดการคเลื่อนไหวครั้งนี้เช่นกัน รวมทั้งสำนักข่าว Bloomberg ที่เผยแพร่บทความ Thai Students Risk Jail With Calls to Curb the Monarchy’s Power (นักศึกษาไทยเสี่ยงคุกจากข้อเรียกร้องให้จำกัดพระราชอำนาจ)
Bloomberg ระบุว่า รากฐานของการชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมครั้งอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การประท้วงมักจะมีนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่
ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก รวมทั้งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชักชวนคนรุ่นใหม่ให้ออกมาชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เผยกับ Bloomberg ว่า “แผนตอนนี้คือระดมคนออกมาร่วมเรียกร้องกับเราให้มากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการพยายามซื้อเวลา แต่ไม่เคยเปลี่ยนความคิดจริงๆ”
ขณะที่ เควิน ฮิวอิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยและศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาชาเปิลฮิลล์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่รู้ว่าจะรับมือการชุมนุมอย่างไร การชุมนุมนี้กลายเป็นการเคลื่อนไหวแรกที่มีการเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์เข้ากับรัฐบาลโดยตรง ถือเป็นประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทาง Bloomberg ได้พยายามติดต่อสำนักพระราชวังเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ขณะที่การสอบถาม รัชดา ธนาดิเรก โฆษกรัฐบาล ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ก็ได้รับคำตอบผ่านสายโทรศัพท์ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นตราบใดที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19
โฆษกรัฐบาลยังเผยกับ Bloomberg อีกว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังประชาชนและพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญหากผ่านกระบวนการทางรัฐสภาแล้ว
Bloomberg ยังสัมภาษณ์ พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเผยว่า ผู้คนจากหลากหลายกลุ่มในสังคมจะเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทีมเศรษฐกิจทีมใหม่ หรือนโยบายใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ Bloomberg ยังระบุอีกว่า การถกถึงประเด็นหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ขยายวงกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งยังมีการใช้โซเชียลมีเดียในการนัดหมายและเผยแพร่ข้อเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก
Bloomberg บอกว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้คล้ายกับแนวทางของม็อบนักศึกษาในฮ่องกงและในประเทศอื่น มากกว่าแนวทางการประท้วงเดิมๆ ของไทยที่มักจะปิดถนนเส้นหลักๆ ในกรุงเทพฯ และกินเวลาหลายเดือน ซึ่งฮิวอิสันระบุว่า แทคติกนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีกลุ่มใดเป็นแกนนำและเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความปวดหัวให้รัฐบาล