มูลค่าการค้าขายระหว่างไทยกับสหรัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเกินดุลเกินเพดานที่สหรัฐกำหนดไว้ เพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขึ้นทะเบียนให้ไทยเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า
สำนักสำมะโนประชากรของสหรัฐเผยข้อมูลล่าสุดว่า การค้าขายของไทยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมานับจนถึงเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เกินดุลสหรัฐเป็นมูลค่าถึง 20,050 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินเพดานสูงสุด 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่กระทรวงการคลังสหรัฐกำหนดไว้สำหรับประเทศคู่ค้า
กระทรวงการคลังของสหรัฐจะจัดทำรายงานการจับตาประเทศที่อาจบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าทุกๆ 2 ปี โดยเกณฑ์ที่ใช้วัดประกอบด้วย
1.การเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
2. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
3. การสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง 6 เดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ของจีดีพี
หากประเทศหนึ่งประเทศใดเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อจะถูกสหรัฐขึ้นทะเบียนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน
จากการประเมินของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก นับตั้งแต่ปลายปี 2014 บัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทยเกิน 2% ของจีดีพีทุกไตรมาส เมื่อบวกกับการเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเท่ากับว่าไทยเข้าเกณฑ์การแทรกแซงค่าเงินถึง 2 ข้อ เพียงพอที่สหรัฐจะขึ้นบัญชีไทย
รายงานของกระทรวงการคลังฉบับล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเดือน พ.ค. 2019 ประเทศในอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ถูกสหรัฐระบุเป็นครั้งแรกว่าเข้าเกณฑ์แทรกแซงค่าเงิน 2 ข้อ ในขณะที่ไทยละเมิด 1 ข้อ คือ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของจีดีพี
ไทยถูกสหรัฐจับตานโยบายการค้าอย่างใกล้ชิด เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ทางการสหรัฐประกาศจะระงับสิทธิพิเศษทางการค้ากับไทยมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากไทยละเมิดสิทธิของแรงงาน อาทิ เสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศที่ถูกสหรัฐระบุว่าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้าจะไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่สหรัฐอาจใช้มาตรการลงโทษทางการค้ากับประเทศนั้นๆ อาทิ ระงับสิทธิพิเศษทางการค้า