WORLD NEWS

โดย M2F Writer

22 มีนาคม 2562 : 12:00 น.

รายงานพิเศษต่างประเทศ

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน พม่าก็เป็นสถานที่น่าไปเยือนทั้งเพื่อพักผ่อนทางกายและทางใจ ขณะที่ชาวพม่าก็มีอัธยาศัยในระดับที่ดีเยี่ยม ประกอบกับคนพม่ารุ่นใหม่ส่วนมากสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว การพูดคุยผูกมิตรกันจึงเป็นไปได้อย่างง่ายมาก

เมื่อชาวพม่าพบกัน ส่วนใหญ่จะไม่ทักกันว่า “มิงกะลาบา” ที่แปลว่า สวัสดี แต่จะคิดคำทักตามสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เช่น หากกำลังเดินอยู่บนถนน อาจจะทักว่า "แบแล๋" ไปไหน? หรือพอใกล้ช่วงมื้ออาหารของวันก็อาจจะทักกันว่า "ซะผี้บิ่ล่ะ" ทานข้าวมาหรือยัง?

การชวนเพื่อนใหม่ไปทานอาหารกันช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ให้สนิทสนมเร็วขึ้นได้ โดยพูดได้ว่า "ตะ คู คู ตว้า ซ้า ยะ ออน" ไปหาอาหารทานกัน! หรือเปลี่ยนจาก "ซ้า" ที่แปลว่า กิน ในประโยคเป็น "เต๊า" ที่แปลว่าดื่ม ก็จะเป็นการชวนไปหาอะไรดื่มกัน

แต่ด้วยไมตรีอันน่ารัก แขกบ้านแขกเมืองอย่างเราอาจได้รับเชิญไปรับประทานอาหารเที่ยงตอนบ่ายๆ ที่บ้านของเขาเลยก็ได้ เมื่อถึงเรือนชาน "เตวย์ ยา ด่า โวน ตา บ่า แดล้" (ใช้กล่าวเมื่อยินดีที่ได้พบสมาชิกของครอบครัวเพื่อนใหม่)

อาหารพม่าหน้าตาดูคุ้นตา แต่ขอบอกว่ารสชาติค่อนข้างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากๆ ในฐานะเจ้าบ้านที่ยกจานเด็ดมาต้อนรับ จะปลื้มอย่างยิ่งถ้านักชิมพูดขึ้นมาว่า "เกาวน์ ไลท์ ด้ะ" ที่แปลว่า ดีมากๆ เจออะไรถูกใจในพม่า ก็ใช้คำนี้ได้

ชาวพม่าค่อนข้างเกรงใจ ถ้าเราอยากมอบของขวัญตอบแทนบ้าง อาจต้องใช้ลูกยัดเยียดด้วยการพูดว่า “เซ ดะ นา แน เปย์ ด่ะ บ่ะ” แปลว่า อยากให้สิ่งนี้กับคุณจริงๆ แถมลูกอ้อนอีกนิดว่า “ยู บา โนะ” ได้โปรดรับไว้นะจ๊ะๆ

น่ารักแบบนี้ มิตรภาพมีแนวโน้มยืนยาวได้ “โนต ปยัน เตวย์ ชา เตย์ ดา โพด์” เจอกันใหม่คราวหน้าแน่นอน!

AFP PHOTO / YE AUNG THU

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ