รายงานพิเศษต่างประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ลีโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินเอกชาวอิตาเลียนในสมัยศตวรรษที่ 15 ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของโลก ไม่ใช่เพียงแค่จิตรกรผู้สร้างงานจิตรกรรมชั้นเลิศเท่านั้น แต่เขาผู้นี้ยังเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมอันล้ำยุคมากมาย จนชาวโลกยกย่องให้เป็นยอดอัจฉริยะที่หาได้ยากยิ่ง
หนึ่งในผลงานศิลปะของ ดา วินชี ที่เรารู้จักกันดีคือ โมนาลิซ่า ภาพจิตรกรรมของหญิงสาวผู้มีรอยยิ้มปริศนา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามี 2 ภาพ ภาพที่โด่งดังที่สุดอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกภาพเพิ่งได้รับการยืนยันว่าเป็น "งานเลียนแบบของจริง" เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ปราโด ในกรุงมาดริด ปรเะทศสเปน
แต่ใครจะรู้ว่าภาพโมนาลิซ่าไม่ได้ซ่อนไว้เพียงปริศนาในรอยยิ้ม แต่ยังมีอีกหนึ่งปริศนาที่เพิ่งถูกไขให้กระจ่างในยุคสมัยของเรา โดยนักวิจัยชาวเยอรมัน 2 คน คือ เคลาช์-คริสเตียน คาร์บอน และเวรา เฮสลิงเงอร์
นักวิจัยทั้งสองเสนอว่า แท้จริงแล้วโมนาลิซ่าหาใช่ภาพเขียนธรรมดา แต่เป็นภาพ 3 มิติภาพแรกของโลก
คาร์บอน จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก เผยว่า หลังจากได้พิจารณาภาพโมนาลิซ่าทั้งสองภาพพร้อมๆ กัน ก็สังเกตเห็นว่าทั้งสองภาพมีความแตกต่างกันตรงที่ทัศนียภาพ หรือมุมมองของภาพ ซึ่งเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย แต่ก็เห็นได้ชัด โดยเฉพาะตรงเก้าอี้ที่นางแบบชื่อ "ลา โจคอนดา" กำลังนั่งอยู่ บ่งชี้ว่าจิตรกรวาดภาพนี้จากมุมมองที่แตกต่างกัน
คาร์บอนกับเฮสลิงเงอร์จึงคำนวณมุมมองของภาพทั้งสองอย่างละเอียด จนพบว่าจิตรกรที่วาดภาพโมนาลิซ่าเวอร์ชั่นพิพิธภัณฑ์ปราโด วาดจากมุมเอียงไปทางด้านซ้ายมากกว่าเวอร์ชั่นพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ทำให้ทัศนยภาพของจุดรวมสายตาแตกต่างกันราว 2.7 นิ้ว
เมื่อได้เบาะแส ทั้งคู่จึงตั้งสมมติฐานว่า โมนาลิซ่าอาจวาดขึ้นในลักษณะภาพ 3 มิติ โดยชี้ว่า ตาของเราแต่ละข้างรับภาพวัตถุด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งมุมมองที่ต่างกันนี้จะถูกแปลงเป็นสัญญาณไปยังสมอง โดยจะผสานภาพ 2 มุมเป็นภาพเดียว เกิดเป็นภาพ 3 มิติขึ้น
สมมติฐานนี้จะชัดเจนมากขึ้นหากเรานำภาพเชิงซ้อนของโมนาลิซ่าทั้งสองชิ้นมาวางทับซ้อนกัน
หลังจากนั้นนักวิจัยชาวเยอรมนีทั้งสองคนจึงใช้แสงแอนะกลิฟสีแดงฉายลงไปที่ส่วนข้อมือของโมนาลิซ่าทั้งสองชิ้น พบว่าภาพเปลี่ยนไปคล้ายภาพ 3 มิติก่อนใส่แว่นตามอง แลดูมีมิติที่ลึกสมจริง
ทั้งนี้ ดา วินชี ก็เคยศึกษาวิจัยมิติการมองของสายตาเช่นกัน อีกทั้งยังบันทึกการทดลองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของแสงสี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าการค้นพบนี้เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ หรือจิตรกรเอก ลีโอนาร์โด ดา วินชี ตั้งใจที่จะสร้างผลงานภาพ 3 มิติของโลกกันแน่ 
REUTERS/Charles Platiau/File Photo