รายงานพิเศษต่างประเทศ
การเสียชีวิตของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เป็นความสูญเสียระดับฟ้าถล่มดินทลายสำหรับวงการแฟชั่น เพราะเขาคือบุคคลระดับไอค่อนที่ช่วยปลุกปั้นให้ Chanel ได้เกิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 หลังการถือกำเนิดโดย โคโค่ ชาแนล และทำให้มันกลายเป็นแบรนด์เนมและแบรนด์สากลที่คนคั้นหูและคุ้นตา ทั้งยังเป็นผู้ชี้นำรสนิยมและกระแสนิยมให้กับวงการนี้มาหลายทศวรรษ
เขาจึงเป็นเสมือนราชาแห่งวงการแฟชั่น
แต่การสูญเสีย ลาเกอร์เฟลด์ ก็เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า The king is dead, long live the king! เพราะเขาจากไปเพียงลำพัง ไม่ได้พาทายาทไปด้วย
อันที่จริงต้องบอกว่า The king is dead, long live the queen! เพราะคนที่จะมาแทนที่เขาคือผู้หญิง เธอคือ วีร์ฌินี วิยาร์ด (Virginie Viard) ซึ่งเป็นมือขวาของ ลาเกอร์เฟลด์ มานานถึง 30 ปี แต่คนภายนอกแทบไม่รู้จักเธอเลย
วันนี้เราจึงจะไม่พูดถึง “รุ่นใหม่หัวใจสตาร์ทอัพ” เหมือนที่เป็นมา แต่จะพูดถึงรุ่นใหม่ที่จะเข้ามากุมทิศทางแฟชั่นเฮ้าส์ระดับโลก เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
หลังจากที่ชาแนลประกาศข่าวการเสียชีวิตของ ลาเกอร์เฟลด์ ก็ประกาศพร้อมๆ กันว่า วิยาร์ด จะมารับหน้าที่แทน เพราะเธอเป็นเพื่อร่วมงานที่ใกล้ชิดเขามานานกว่า 30 ปี
โลอีค พรีฌองต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับแฟชั่นโชว์กล่าวว่า “ลาเกอร์เฟลด์ เหมือนกับรถไฟ ส่วน วิยาร์ด เหมือนกับราง” คำกล่าวนี้สะท้อนความสำคัญของ วิยาร์ด ได้เป็นอย่างดี ส่วนซีอีโอของแบรนด์ก็ไว้ใจเธอที่มีผลงานเชิงสร้างสรรค์ในคอลเลคชั่นต่างๆ และสามารถสืบสานมรดกของ กาบริแอล หรือ “โคโค่” ชาแนล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ และ ลาเกอร์เฟลด์ ผู้ทำให้แบรนด์ลือลั่นไปทั่วโลก
วิยาร์ด อายุ 50 ปี เติบโตที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เป็นพี่สาวคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 5 คน คุณพ่อเป็นนักกีฬาสกีระดับแชมป์และต่อมาเปลี่ยนอาชีพเป็นแพทย์ ซึ่งจะว่าไปแล้วดูไม่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับลูกสาวได้ แต่คนที่น่าจะมีอิทธิพลต่อ วิยาร์ด ในเรื่องแฟชั่น น่าจะเป็นปู่กับย่า ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการผู้ผลิตผ้าไหม อันเป็นสินค้าเชิดหน้าชูตาของเมืองลียงมานานหลายร้อยปีแล้ว
อีกคนที่เจ้าตัวให้เครดิตในฐานะแรงบันดาลใจเรื่องแฟชั่นคือ แม่และคุณป้าคุณน้า แต่เคยคิดว่าเสื้อผ้าของชาแนลนั้น “ล้าสมัย” แต่ตอนนั้นเธอคงจะไม่คาดคิดว่า ในอนาคตจะเข้ามาทำแบรนด์นี้ให้ล้ำสมัยไปพร้อมๆ กับคงความคลาสสิค
ตัวเธอเองสนใจแฟชั่น จึงเข้าเรียนที่ Le Cours Georges สถาบันแฟชั่นที่เมืองลียง ซึ่งเธอร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญด้านเครื่องแต่งกายสำหรับการแสดง จากนั้นไปใช้ชีวิตที่ลอนดอน 1 ปีในยุคที่วัฒนธรรมพั้งก์กำลังมาแรงถึงขีดสุด จากนั้นกลับมาทำงานที่ร้านบูติกที่ลียงได้พักหนึ่งแบบไม่ราบรื่นนัก เธอก็ได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยให้กับ โดนินิก บอร์ก ดีไซเนอร์ชื่อดังในกรุงปารีส
การที่เธอได้โคจรมาพบกับ ลาเกอร์เฟลด์ เป็นเพราะการแนะนำโดยเจ้ากรมพิธีการของ เจ้าชายเรนิเยร์ แห่งโมนาโก และสหายเก่าแก่ของครอบครัววิยาร์ด เธอจึงกลายเป็นพนักงานฝึกของของไอค่อนแห่งวงการแฟชั่น และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 30 ปีของคนทั้งสอง
ที่ชาแนล เธอเริ่มทำงานในปี 1987 ในฐานะดีไซเนอร์ จากนั้นรับหน้าที่ดูแลฝ่ายเย็บปัก ต่อมาไปทำงานให้แบรนด์ Chloé นาน 5 ปี แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของ ลาเกอร์เฟลด์ จนกระทั่งในปี 1997 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสตูดิโอของชาแนล
ลาเกอร์เฟลด์ บอกว่า วิยาร์ด เป็นทั้งมือซ้ายและมือขวาของเขา หลังจากที่เขาสเกตช์แบบร่างแล้ว เธอจะรับงานมาสร้างสรรค์ต่อในทันที และจะพิจารณาว่าเทคนิคแบบใหม่หรือแบบเก่าอย่างไหนที่จะสอดคล้องกับไอเดียที่ ลาเกอร์เฟลด์ ปลดปล่อยออกมา
วิยาร์ด บอกว่า ลาเกอร์เฟลด์ เป็นคนคนดียวที่เธอใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 ในภาษาฝรั่งเศสว่า vous ซึ่งเป็นการให้เกียรติอย่างมาก แสดงถึงความเคารพในตัวเธอต่อ “เมนทอร์” ผู้ยิ่งใหญ่
แต่เธอไม่ใช่ “เยสแมน” หรือคนที่ลูกพี่สั่งอะไรแล้วทำตามโดยไม่หืออือ ตรงกันข้าม เมื่อ วิยาร์ด มีอะไรอยากจะพูด เธอก็จะพูดกับเขาไปเลย
เราจึงคาดหวังได้ว่า ชาแนลโฉมหน้าใหม่ภายใต้การนำทางของ วิยาร์ด จะเป็นทั้งการสานต่องานของ ลาเกอร์เฟลด์ และการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ไปในเวลาเดียวกัน