โดย จารุณี นาคสกุล
เบื้องหน้าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันอยู่ทุกวันนี้คือความสวยงามหรูหรา แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ได้สร้างมลภาวะให้โลกมากมาย วงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึง 10% จากก๊าซทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละปี จากกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การเพาะปลูกฝ้าย การฟอกสี ไปจนถึงการตัดเย็บจนออกมาเป็นเสื้อผ้าให้เราได้ช็อปปิ้ง ส่วนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์ก็ต้องใช้น้ำมันถึง 70 ล้านบาร์เรลต่อปี ใช้เวลาการย่อยสลายไม่ต่ำกว่า 200 ปี
โชคดีที่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนทัศนคติในการช็อปปิ้ง แล้วหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เสื้อผ้าที่ใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคในยุคนี้
ด้วยเหตุนี้ ม.เฮลซิงกิ และ ม.อาลโต ของฟินแลนด์ จึงร่วมกันพัฒนาเส้นใยเสื้อผ้าที่ทำจากต้นเบิร์ช ทรัพยากรธรรมชาติที่ฟินแลนด์มีล้นเหลือ โดยพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศมักจะเลือกตัดต้นไม้บางต้นออกเพื่อให้ต้นอื่นๆ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้มีพื้นที่เติบโต ต้นไม้ที่ถูกตัดทิ้งนี่แหละคือแหล่งที่มาของเส้นใยที่จะนำมาทอผ้า
ทีมนักเคมีและวิศวกรของทั้งสองมหาวิทยาลัยใช้เทคนิคที่เรียกว่า loncell เปลี่ยนวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ หนังสือพิมพ์รีไซเคิล กระดาษลัง ให้เป็นเส้นใยเซลลูโลส โดยกระบวนการย้อมและแปรรูปจะใช้ของเหลวที่ไม่เป็นพิษและปลอดภัยกับผู้สวมใส่ เพื่อไม่ให้กระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งยังใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าการทอผ้าฝ้ายถึง 97% หรือเทียบเท่ากับน้ำที่คนคนหนึ่งใช้อุปโภคบริโภคได้ถึง 10 ปี
นอกจากนี้ ยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ปล่อยไมโครพลาสติกออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งในขั้นตอนการซักและการย่อยสลาย
ปิริโอ การิไอเนน ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ ม.อาลโต เผยว่า ป่าคือทรัพยากรที่มีค่า ดังนั้น เราต้องคิดให้รอบคอบว่าจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร วัตถุดิบที่ได้จากป่าควรจะนำมาใช้กับสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรีไซเคิลได้ เช่น การผลิตเส้นใยทอผ้าของทางมหาวิทยาลัย แต่นอกจากจะมีเส้นใยรักษ์โลกแล้ว การออกแบบเสื้อผ้าก็มีส่วนสำคัญที่จะจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้า ทางมหาวิทยาลัยจึงดึงนักศึกษาวิชาการออกแบบแฟชั่นและการออกแบบสิ่งทอมาร่วมโครงการนี้ด้วย
ผลงานชิ้นสำคัญของโครงการนี้ก็คือ ชุดราตรีที่ เยนนี เฮากิโอ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสวมใส่ในงานกาล่าเฉลิมฉลองวันชาติฟินแลนด์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หากมองด้วยตาเปล่าก็แทบดูไม่ออกเลยว่าชุดราตรีสุดหรูนี้ตัดเย็บจากเส้นใยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ทางมหาวิทยาลัยเผยว่าเส้นใยที่ได้จากต้นเบิร์ชนี้ให้สัมผัสที่นุ่มละมุน เงางามไม่แพ้เส้นใยอื่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเลย
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี loncell ยังอยู่ในช่วงของการวิจัยเท่านั้น แต่ทางมหาวิทยาลัยคาดว่าจะออกผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ในปี 2020
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้เส้นใยรักษ์โลกมีความยั่งยืน ผู้บริโภคอย่างเราๆ ควรลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้อำนาจซื้อที่อยู่ในมือของพวกเรากระตุ้นให้แบรนด์เสื้อผ้าผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน เปลี่ยนภาพลักษณ์เบื้องหลังของอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ขาวสะอาดขึ้น