WORLD NEWS

โดย M2F Writer

01 กุมภาพันธ์ 2562 : 12:30 น.

รายงานพิเศษต่างประเทศ

นับวันทรัพยากรบนโลกมีแต่จะลดลงๆ สวนทางกับประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อจำกัดนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และการคิดนอกกรอบเพื่อหาทางพัฒนาปรับปรุงวัสดุที่มีอยู่เดิม หรือแม้แต่การคิดค้นวัสดุที่ยังไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมาทดแทน โดยที่วัสดุเหล่านี้อาจเปลี่ยนอนาคตของมนุษยชาติก็เป็นได้

และนี่คือ 5 วัสดุที่น่าสนใจ

แผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่สวมใส่ได้

มาร์ยาน ฟาน ออเบล ดีไซเนอร์ชาวดัตช์ได้ร่วมมือกับสวารอฟสกี้ สร้างนวัตกรรมใหม่ในการกักเก็บแหล่งพลังงานสำหรับบ้านเรือน นั่นคือ จี้สีน้ำเงินฝังโซลาร์เซลล์ Cyanometer ที่สามารถเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์เมื่อผู้สวมใส่เดินออกไปรับแสงนอกบ้าน เมื่อนำไปวางไว้บนแท่นก็จะเป็นแหล่งพลังงานให้กับหลอดไฟพิเศษที่ออกแบบมาคู่กัน โดยที่หลอดไฟนี้จะปล่อยแสงเลียนแบบการเปลี่ยนสีของท้องฟ้าในช่วงกลางวัน เครื่องประดับแห่งอนาคตชิ้นนี้อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ให้ดีขึ้น ด้วยการกระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักถึงพลังงานที่เราใช้ในแต่ละวัน และหันมาใส่ใจประหยัดพลังงานที่นับวันมีแต่จะหมดไปมากขึ้น

วัสดุก่อสร้างจากภูเขาไฟ

หลายคนอาจเข้าใจว่าเม็ดทรายมีอยู่ล้นเหลือ แต่จริงๆ ทรายกำลังจะหมดไปจากโลก เนื่องจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วโลกจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นๆ Studio Formafantasma สตูดิโอออกแบบในกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ได้จับมือกับ Dzek บริษัทผลิตวัสดุด้านสถาปัตยกรรมในกรุงลอนดอน คิดค้นสารเคลื่อบเงาที่ทำจากเถ้าถ่านภูเขาไฟ ซึ่งเมื่อนำไปทาบนพื้นผิวจะให้ความรู้สึกเหมือนกับลาวาที่กำลังหลอมละลาย ด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนผลพลอยได้จากภัยธรรมชาตินี้ให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์

เซรามิกซอฟท์เสิร์ฟ

ปกติหากพูดถึงเซรามิก เรามักจะนึกถึงงานที่ช่างฝีมือดั้งเดิมนั่งปั้นนั่งวาดและลงสีงานทีละขั้นตอนด้วยสองมือ แต่ อันโตน อัลวาเรซ ดีไซเนอร์ชาวสวีเดน-ชิลี ได้ท้าทายภาพจำเดิมด้วย Extruder เครื่องจักรที่สามารถบีบดินสำหรับปั้นให้ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ คล้ายๆ กับเครื่องทำไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟที่กดออกมาเป็นยอดแหลมๆ หากมองเผินๆ เราอาจจะคิดว่าเขาตัดฝีมือมนุษย์ออกจากการประดิษฐ์เซรามิก แต่ข้อดีของเครื่องจักรที่ว่านี้ คือ ช่วยให้ดีไซเนอร์สามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ลงบนชิ้นงานของตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด และควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบได้

หินอ่อนโมเดิร์น

Raw Material ดีไซเนอร์สตูดิโอในรัฐราชสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย นำเทคนิคการเชื่อมต่อวัสดุในเชิงสถาปัตยกรรมมาใช้ในการต่อเศษหินอ่อนเหลือใช้ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตหินอ่อน (ซึ่งก่อมลพิษค่อนข้างมาก) ให้เป็นปูนปลาสเตอร์ แล้วนำมาใช้ในการเชื่อมอิฐหินอ่อนที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาเองเช่นกัน Raw Material จึงได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเลย

ผลิตภัณฑ์จากต้นสน

ต้นสนเป็นต้นไม่ที่มีเยอะมากในแถบยุโรป แต่ละปีสหภาพยุโรปจะตัดโค่นสนประมาณ 600 ล้านต้น ทามารา ออร์ญอลา ดีไซเนอร์ชาวลัตเวียสบช่องจึงนำต้นสนเหล่านี้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด อาทิ สิ่งทอ สีย้อม น้ำมันหอมระเหย กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ