เจาะลึกสถานการณ์โลก
บราซิลเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงสุดอันดับต้นๆ ของโลก และมีอัตราการฆาตกรรมติดอันดับท็อป 20 ของโลก จากการจัดอันดับโดย Wikipedia โดยใช้สถิติจากแหล่งต่างๆ พบว่า มีเมืองของบราซิลหลายเมืองถือว่าเป็นดินแดนที่อันตรายที่สุดของโลก เพราะมีอัตราการฆาตกรรมสูงมาก เช่น เมืองนาตาล รัฐรีโอกรันดีโดนอร์เต ติดอันดับ 4 ของโลก เมืองฟอร์ตาเลซา รัฐเซอารา ติดอันดับ 7 ของโลก และเมืองเบเล็ม ติดอันดับ 10 ของโลก
อาชญากรรมในอัตราทึ่สูงมากเป็นผลมาจากปัญหายาเสพติด ความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่กฎหมาย นโยบายรัฐที่อ่อนปวกเปียก และการคอร์รัปชั่น ด้วยสภาพชีวิตที่อันตราย ไม่รู้ว่าจะถูกปล้นหรือถูกฆ่าเมื่อใด ทำให้ชาวบราซิลเริ่มที่จะทนไม่ไหว และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ต.ค. 2018 ผลก็คือ ชาวบราซิลเลือก ฌาอีร์ โบลโซนารู นักการเมืองฝ่ายขวาสายเหยี่ยว อดีตทหาร ผู้ชูนโยบายปราบอาชญากรรม และส่งเสริม “ศีลธรรมอันดี” ให้กลับคืนสู่ประเทศ
เมื่อโบลโซนารูสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ลั่นวาจาเอาไว้ว่า “คำขวัญของชาติ คือ ระเบียบและความก้าวหน้า (Ordem e Progresso) ไม่มีสังคมไหนที่จะพัฒนาได้ หากไม่เคารพสิ่งนี้” ซึ่งโบลโซนารูทำตามคำพูดแทบจะในทันที เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสายเหยี่ยว ส่งทหารจำนวน 300 นาย ไปช่วยกำราบจลาจลในเมืองฟอร์ตาเลซา ที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดอันดับ 7 ของโลก หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการตัดการติดต่อระหว่างนักโทษในเรือนจำกับโลกภายนอก ทำให้แก๊งอาชญากรรมในเมืองนี้ไม่พอใจ ก่อเหตุจลาจลปล้นชิงไปทั่ว จนตำรวจยับยั้งสถานการณ์ไว้ไม่ไหว
มาตรการตัดเส้นทางสื่อสารของนักโทษในเรือนจำมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งขบวนการอาชญากรรมไม่ให้เคลื่อนไหวได้สะดวกแม้ว่าสมาชิกจะถูกจับกุมแล้ว ในการนี้แก๊งอาชญากรรมที่เคยเป็นศัตรูกันต่างหยุดยิงชั่วคราว แล้วร่วมมือกันต้านทานการปราบปรามของรัฐบาล และยังเป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลรัฐเซอารามาจากพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามของโบลโซนารู
เพื่อที่จะปราบแก๊งอันธพาลครองเมือง โบลโซนารูให้อาญาสิทธิ์กับทหารและตำรวจในการใช้กำลังขั้นทำร้ายผู้กระทำผิดได้ และยังหมายถึงการให้ไฟเขียววิสามัญฆาตกรรมได้ตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ โบลโซนารูยังประกาศว่า “พลเมืองที่ดีสมควรได้รับโอกาสในการปกป้องตัวเอง” ซึ่งหมายถึงการผ่อนปรนกฎหมายครอบครองอาวุธปืน เพื่อให้ “ประชาชนที่ดี” มีอาวุธใช้ต่อกรกับอาชญากรรมได้
ความไร้ขื่อแปของบราซิล ทำให้เกิดกลุ่มศาลเตี้ย หรือ Vigilante ขึ้นมาหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เมืองฟอร์ตาเลซา ประชาชนไม่อาจพึ่งพาผู้รักษากฎหมายได้ ต้องใช้กฎหมู่เพื่อป้องกันตัวเองจากอาชญากรรม จนบางครั้งทำให้เกิดการใช้ศาลเตี้ยพิพากษาผู้ต้องสงสัยจนถึงแก่ชีวิต โดยไม่มีการไต่สวนว่าถูกหรือผิด ยิ่งทำให้เมืองนี้กลายเป็นแดนมิคสัญญีที่คนร้ายปกครอง ส่วนคนทั่วไปต้องใช้กฎหมู่ปกป้องตัวเอง
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ต.ค. เฟร์นันโด ฮัดดัด ผู้สมัครจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย อ้างว่า โบลโซนารูมีแผนการที่จะสร้างกลุ่มศาลเตี้ยเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน โดยอ้างว่าเพื่อกำราบอาชญากรรม และการทำเช่นนั้นเท่ากับเลียนแบบฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการใช้กลุ่มศาลเตี้ย จนกระทั่งรัฐไม่มีบทบาท และทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นมา อย่างไรก็ตาม คำอ้างของฮัดดัดเรื่องฟิลิปปินส์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และขณะนี้โบลโซนารูก็ยังไม่ตั้งกลุ่มลาดตระเวนเหนือกฎหมายขึ้นมา