เจาะลึกสถานการณ์โลก
ปีที่แล้วกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศในเกาหลีใต้รุนแรงมาก เพราะได้แรงส่งจากกระแส #MeToo แต่กระแสต้านก็รุนแรงเช่นกัน เพราะสังคมเกาหลียังมีความอนุรักษนิยมและยังมองว่าผู้ชายเป็นใหญ่ แม้แต่ในแบบเรียนเพศศึกษาของรัฐบาลก็ยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมกัน ถึงขนาดที่ให้ข้อมูลในเชิงเหยียดเพศหญิงอย่างน่าตกใจ
ตัวอย่างเช่น แบบเรียนเพศศึกษาของเกาหลีใต้ระบุว่า “ผู้หญิงมีแรงปรารถนาทางเพศต่อผู้ชายหนึ่งคน ส่วนผู้ชายมีความต้องการทางเพศกับผู้หญิงเท่าที่เขามีความต้องการ” และบอกว่า “ผู้หญิงต้องทำตัวเองให้สวย ส่วนผู้ชายต้องทำงานหนัก จะได้มีสถานะการเงินที่ดี” เท่านั้นยังไม่พอ ยังบอกว่า “ผู้ชายจ่ายเงินจีบผู้หญิงเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ชายต้องได้ของชดเชยจากเงินที่เสียไป การหลอกนัดข่มขืนจึงเกิดขึ้น” และ “หากถูกลวนลามทางเพศบนรถไฟใต้ดิน ให้แกล้งเหยียบเท้าผู้ชายคนนั้นเหมือนเป็นอุบัติเหตุ”
ด้วยเนื้อหาที่แสดงทัศนคติที่คับแคบ อีกทั้งท่าทีของรัฐบาลลังเลที่จะแก้ไขแบบเรียนเจ้าปัญหา หนังสือพิมพ์ Guardian รายงานว่า ผู้ปกครองชาวเกาหลีใต้หลายรายจึงตัดสินใจควักกระเป๋าส่งลูกไปเรียนวิชาเพศศึกษาในสถาบันเอกชน และครูอาจารย์ที่มีทัศนะที่ถูกต้อง ต่างจัดชั้นเรียนแนะแนวประเด็นทางเพศที่ทันสมัยให้เด็กๆ Guardian เผยว่า เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ลงทะเบียนเรียนวิชาเพศศึกษาของสถาบันเอกชนเพิ่มถึง 2 เท่าตัว
ทั้งนี้ วิวาทะเรื่องเหยียดเพศและการต่อต้านสิทธิสตรีในเกาหลีใต้รุนแรงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปีที่แล้ว กรณีที่โด่งดังที่สุดคือ แร็พเปอร์ซานอี (San E) ที่ปล่อยเพลงชื่อ Feminist ไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน เนื้อเพลงโจมตีกระแสสตรีนิยมอย่างรุนแรง เช่นบ่นเรื่องวัฒนธรรมการเดทของเกาหลีที่ผู้ชายต้องเป็นฝ่าย “เปย์” และถามว่าทำไมผู้หญิงถึงไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารเหมือนผู้ชาย รวมถึงพูดถึงกระแส MeToo ที่กำลังรุนแรงจนทำให้บิ๊กในวงการบันเทิงที่กดขี่และลวนลามผู้หญิงร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน
แน่นอนว่า เพลงของซานอีจะถูกโจมตีอย่างหนัก แถมยังปล่อยเพลงออกมาพร้อมกับที่ซานอีปล่อยคลิปเหตุวิวาทในบาร์แห่งหนึ่ง (คลิปลบไปแล้ว) ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมไป 5 คน เป็นหญิง 2 คน สาเหตุการวิวาทยังไม่แน่ชัด แต่หญิงหนึ่งในนั้นโพสต์คำร้องไปยังทำเนียบประธานาธิบดีให้ยกเลิกการกีดกันผู้หญิง ปรากฏว่ามีผู้เข้าชื่อถึง 300,000 คนในเวลาเพียง 1 วัน ซึ่งเข้าข่ายที่ทำเนียบจะต้องตอบสนองคำร้องนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแร็พเปอร์หญิงชื่อ SLEEQ ปล่อยเพลงออกมาโต้ซานอีด้วย ชื่อเพลง No You Are Not ซึ่งทั้งโต้ทั้งด่าทัศนะของซานอี
แต่ซานอียังไม่หยุดแค่นั้น ในคอนเสิร์ตล่าสุดของพวกเขา Brand New Year 2018 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม แร็พเปอร์หนุ่มจุดประเด็นเรื่อง “Feminist” (กลุ่มปกป้องสิทธิสตรี) ในระหว่างการแสดง ด้วยการตอบโต้กลุ่มคนที่วิจารณ์เขากลับไปอย่างรุนแรง จนโหมกระแสความไม่พอใจให้คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ทำคอนเสิร์ตต้องหยุดชะงักกลางคันเมื่อผู้ชมด้านล่างเวทีโห่ไล่ จน ไรเมอร์ ซีอีโอค่ายแบรนด์นิวมิวสิค ต้องรีบขึ้นมาระงับสถานการณ์มาคุบนเวที และกล่าวขอโทษแฟนๆ
ต้นสังกัดของซานอีแถลงผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า ค่ายยอมรับผิดและขอน้อมรับทุกคำวิจารณ์ที่เกี่ยวข้องกับคอนเสิร์ต พร้อมกับอยากขอโทษที่ทำให้ผู้ชมต้องรู้สึกอึดอัด โดยสัญญาว่าจะระมัดระวังและพยายามจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่เหตุการณ์นี้ร้อนแรงมากจนกระทั่งต้นสังกัดทนไม่ไหว ในวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ค่ายเพลงแบรนด์นิว มิวสิค ของเกาหลี ประกาศว่า แร็พเปอร์หนุ่ม ซานอี ไม่ใช่ศิลปินในสังกัดอีกต่อไป (ภาพซานอี โดย http://hdpics.tistory.com/ - http://hdpics.tistory.com/260)