GENERATION STARTUP
ชิอิกิ ริกะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นวัย 20 ปี นักศึกษา ม.เคโอ เป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการตลาดชื่อ AMF ที่จริงแล้วเธอตั้งบริษัทนี้มาตั้งแต่อายุแค่ 15 ปี หรือตอนอยู่ ม.3 เท่านั้น (ในปี 2013) แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจมากนัก แต่เธอก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี บวกกับความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจและสร้างยุคใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ในด้านธุรกิจ ในวันนี้ ริกะ ประสบความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจ และชื่อเสียงในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่อายุน้อย โดย AMF มีทุนถึง 10 ล้านเยน (ตัวเลขปี 2017) จากทุนเริ่มต้นที่เป็นเงินเก็บของ ริกะ เอง และเงินกู้จากพ่อเพียง 450,000 เยนเท่านั้น
ชื่อของบริษัทมาจากปรัชญาของการทำธุรกิจของเธอเอง นั่นคือ A มาจาก Appreciation ตัวอักษร M มาจาก Modesty และ F มาจาก Full-power ไม่น่าเชื่อว่าหญิงสาววัยแค่นี้จะมีความสามารถทางธุรกิจอย่างล้นเหลือ และคิดปรัชญาการทำงานขึ้นมาได้อย่างกระชับและชัดเจน
AMF เป็นสตาร์ทอัพที่ปรึกษา โดยในปี 2014 ริกะยังตั้ง JCJK Chosatai หรือหน่วยวิจัย JCJK ขึ้น เพื่อติดตามเทรนด์ในกลุ่มเป้าหมาย โดยตัวย่อ JC ในชื่อของหน่วยนี้มาจากคำว่า โจฌิ จูงะกุเซ หรือนักเรียนหญิงมัธยมต้น ส่วน JK ย่อมาจาก โจฌิ โคเซ หรือนักเรียนหญิงมัธยมปลาย ในตอนแรกมีสมาชิกถึง 50 คน และสร้างแอพพลิเคชั่น JK Mezamashi ปัจจุบันมีนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัยหญิงเป็นสมาชิกถึง 200 คน
JCJK Chosatai นี่เองที่เป็นพลังขับเคลื่อนของสตาร์ทอัพนี้ โดยทำหน้าที่สำรวจกระแส จับทิศทางความนิยมในตลาดวัยรุ่น และใช้องค์ความรู้ที่วิเคราะห์ได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ บริษัทนี้จึงเป็นบริษัทด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่มีพนักงานเป็นเด็กสาววัยรุ่น
สินค้าวัยรุ่น โดยเฉพาะเรื่องความสวยความงาม เป็นตลาดที่ใหญ่และคึกคักพอสมควรในญี่ปุ่น ซึ่งเข้าทาง ริกะ เพราะนอกจากเจ้าของบริษัทจะตั้งบริษัทในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนมัธยมแล้ว เธอยังมีพนักงานเป็นวัยรุ่นอีกด้วย
และในตอนนี้ สิ่งที่ต่างออกไปจากบริษัทการตลาดในญี่ปุ่นรายอื่นๆ อีกอย่างคือ AMF เน้นเกาะกระแสเกาหลีเป็นหลักตั้งแต่ปี 2017 เพราะคาดการณ์ว่า กระแสนี้จะต้องมาแรงอีกครั้งในญี่ปุ่น ธุรกิจที่ AMF เป็นหุ้นส่วนด้วย จึงเกี่ยวกับเสื้อผ้า เครื่องสำอาง จากเกาหลี และยังร่วมมือกับธุรกิจในเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งนับว่าค่อนข้างแปลก เพราะแม้กระแสเคป๊อปจะแพร่มาถึงญี่ปุ่นด้วย แต่ญี่ปุ่นก็มีรสนิยมด้านวัฒนธรรมป๊อปเป็นของตัวเอง
ความท้ายของธุรกิจกระแสเกาหลีในญี่ปุ่น คือการชิงพื้นที่กับวัฒนธรรมป๊อปและวัฒนธรรมความสวยความงามในบ้านที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และความกินแหนงแคลงใจทางการเมืองระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีล่าสุด คือสถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่นยกเลิกการแสดงของวง BTS แบบกะทันหัน คาดว่าเกี่ยวข้องกับการแสดงออกที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในอดีตของประเทศทั้งสอง
แม้จะมีปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กระแสเคป๊อปในญี่ปุ่นก็ยังไม่ซาลงไป และในเวลานี้ถือเป็นคลื่น “ฮัลรยู” ละลอกที่ 3 แล้ว และปรากฏว่าจากการรายงานของ Nikkei Asian Review พบสินค้าด้านวัฒนธรรมของเกาหลีที่ส่งออกนอกประเทศถึง 50% อยู่ในญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน และมีตลาดที่คึกคัก
ด้วยความสำเร็จที่ ริกะ มุ่งเป้าที่จะใช้โมเดลเดียวกัน ในการขายสินค้าแฟชั่นและความสวยความงามแบรนด์ญี่ปุ่น และเธอยังบอกกับ Nikkei Asian Review ด้วยว่า กำลังคิดที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับไต้หวันและเมืองไทยด้วย
ภาพ - @rikashiikiamf / http://amf.tokyo.jp/