WORLD NEWS

โดย M2F Writer

05 ธันวาคม 2561 : 12:31 น.

รายงานพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 9

เมื่อเดือน เมษายน 2552 มีคณะชาวสวิสจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วังไกลกังวล หนึ่งในนั้นคือ ลีซองดร์ เซแรดารี (Lysandre Séraïdaris) บุตรของ เกลอง เซแรดารี (Cléon Séraïdaris) พระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ขณะทรงศึกษาที่เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ส่วนอีกคนนั้นคือ โอลีวีเย กรีวา (Olivier Grivat) เป็นนักเขียนและนักแปลอิสระและประธานสมาคมสิ่งตีพิมพ์ เมืองโลซาน

ลีซองดร์ เซแรดารีไม่เพียงเป็นบุตรของพระอาจารย์ของในหลวงทั้งสองพระองค์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ Le Roi Bhumibol et la Famille Royale de Thaïlande à Lausanne หรือ "ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์แห่งประเทศไทย ณ เมืองโลซาน"

ผู้เขียนเผยว่า "ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำให้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อรำลึกถึงบิดาของผม และพระองค์ทรงเห็นว่าหนังสือจะเป็นบันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง"

ลีซองดร์ เซแรดารีให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Le Paris Phuket ว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ซึ่งผมได้จัดทำ หนังสือเล่มนี้ กว่าจะได้เป็นรูปเล่ม ผมต้องใช้วิธีการเดียวกันกับที่ผมใช้สำหรับเขียนการประชุมซึ่งผมได้ทำ ตั้งแต่ปี 2548 เอกสารทางประวัติศาสตร์กว่า 350 แผ่น ได้นำไปใช้เป็นภาพประกอบในผลงานชิ้นนี้ ซึ่งมีความหนาประมาณ 450 หน้า ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยอีกเช่นกัน”

ลีซองดร์ เซแรดารียังเผยกับ Le Paris Phuket ด้วยว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดการทำงานแบบชัดเจน โดยจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมมีข้อจำกัดในการอ้างอิงตามรูปประกอบเท่าที่ผมมี อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงมีส่วนร่วมในการเขียนแต่อย่างใด แต่ถ้าผมมีข้อสงสัย พระองค์ก็จะทรงช่วยไขความกระจ่างให้ผม อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่าจะมีข้อผิดพลาดใดๆ แต่ผมก็ได้ส่งร่างหนังสือไปให้พระองค์ก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องของพระองค์ เผื่อมีข้อผิดพลาดหรือขาดใจความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งไป ผมพร้อมที่จะแก้ไขอย่างแน่นอน หากพระองค์ทรงพบจุดบกพร่องใดๆ ก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพยานคนสำคัญ”

นอกจากหนังสือของลีซองดร์ เซแรดารีแล้ว ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นอีกท่านคือ โอลีวีเย กรีวา ก็ยังเป็นผู้เขียนหนังสือภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งประทับอยู่ ณ เมืองโลซาน เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลและเรื่องเล่าของคนท้องถิ่น ที่ภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเคยมีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและพระชนนีก็เคยประทับในประเทศของพวกเขา

หนังสือเล่มนั้นชื่อ "Un roi en Suisse-La jeunesse helvétique du roi Bhumibol de Thaïlande" หรือที่แปลว่า "องค์ราชันในสวิตเซอร์แลนด์: พระราชจริยาวัตรเมื่อยังทรงวัยเยาว์ ณ ดินแดนสวิสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทย"

หนังสือเล่มนี้มีความยาว 230 หน้า พร้อมภาพประวัติศาสตร์จำนวน 65 ภาพ ผู้เขียนใช้เวลานาน 2 ปี ค้นหาข้อมูลจากหอจดหมายเหตุต่างๆ อ่านหนังสือพิมพ์นับไม่ถ้วน สัมภาษณ์ผู้คนมากมาย รวมทั้งบันทึกของเกลอง เซแรดารี พระอาจารย์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งความตอนหนึ่งในหนังสือได้ยกเอาบันทึกความทรงจำของอาจารย์เซแรดารีที่เล่าเอาไว้ว่า

"ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มโปรดปรานการดนตรีเมื่อครั้งที่ยังประทับในโลซาน ตอนแรกทรงดนตรีก่อน ในภายหลังจึงทรงประพันธ์บทเพลง"

แต่ดนตรีเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสรรพวิชาที่ทรงศึกษาขณะประทับในสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากการถ่ายภาพ การศึกษาธรรมชาติ แล้วพระองค์ยังสนพระราชพระทัยในระบอบการเมืองการปกครอง หนังสือเล่มนี้ยังระบุว่า ระหว่างที่ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ทรงลงทะเบียนเรียนวิชาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ถึง 1 เทอม เพื่อศึกษาให้รู้ซึ้งถึงลัทธิดังกล่าว ราวกับทรงจะทราบว่าในเวลาต่อมาลัทธินี้จะแพร่ระบาดไปทั่วดินแดนแหลมทอง

ผู้เขียนยังระบุด้วยว่า ทรงศึกษารัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยของของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อที่จะได้ทรงนำเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่พระองค์ประทับในดินแดนอันสวยงามนั้น มิได้ทรงเพิกเฉยต่อพสกนิกรและแผ่นดินไทยเลย ตรงกันข้ามกลับทรงมุมานะศึกษาหาความรู้ในด้านรัฐศาสตร์เพื่อนำเอาความรู้นั้นมาปรับใช้กับแผ่นดินไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังจากเสด็จนิวัตพระนครแล้วนั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิของสงครามเย็น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายสังคมนิยมมาร์กซิสม์

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย ทำให้เรารอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกา ไม่ต้องกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่ถูกผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์ผลักให้ล้มลงเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ตรงกันข้าม ด้วยพระปรีชาสามารถและพระบารมี ช่วยให้ไทยยังคงเป็นไทย เป็นดินแดนแห่งเสรีชน มีความมั่งคั่งรุ่งเรืองดังในปัจจุบันนี้

โอลีวีเย กรีวากล่าวว่า เรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังคงตราตรึงไม่รู้ลืม แต่ในยุคนี้ ผู้ที่มีอายุ 60 หรือ 70 ปี ก็ยังจดจำกันได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพระมหากษัตริย์จากประเทศอันห่างไกล เคยประทับอยู่ที่นี่

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ