ของที่ระลึกจากยุคแรกสร้าง
หอไอเฟลเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กรุงปารีสมานานกว่า 100 ปีแล้ว เพื่อเป็นประตูทางเข้างานเวิลด์แฟร์ หรืองานแสดงสินค้าและนวัตกรรมจากทั่วโลก เมื่อปี 1889 ซึ่งในครั้งนั้นประเทศสยามได้เข้าร่วมงานด้วย ในตอนแรกชาวกรุงปารีสรังเกียจโครงสร้างเหล็กสูง 300 ม. ชิ้นนี้มาก และเรียกมันว่าเป็นทัศนอุจาดท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ชาวปารีสค่อยๆ ยอมรับหอไอเฟลเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และในที่สุดก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่ขาดไม่ได้ และถ้าใครเอ่ยถึงปารีส สิ่งแรกที่จะนึกถึงก็คือเจ้าสิ่งนี้
หากหอไอเฟลถูกรื้อตามเสียงเรียกร้องของบางคนหลังงานเวิลด์แฟร์ ปี 1889 มันคงเป็นแค่เศษเหล็กไร้ค่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป 100 ปี หอไอเฟลกลายเป็นสิ่งล้ำค่า แม้แต่บันไดที่เคยเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างก็ยังมีมูลค่าแพงหูฉี่
แต่เดิมสถาปนิกผู้สร้างหอไอเฟล คือ กุสตาฟ ไอเฟล ออกแบบให้มีบันไดสำหรับเชื่อมต่อชั้นที่ 2 และ 3 (หอไอเฟลแบ่งเป็น 3 ชั้น) หลังจากผ่านมา 96 ปี ในปี 1983 จึงมีการถอดบันไดเวียนออกไปเพื่อลดน้ำหนักของโครงสร้าง แล้วแทนที่ด้วยลิฟต์ ต่อมาส่วนหนึ่งบันไดเวียนอายุนับร้อยปี ปีที่ถูกถอดออกไปคราวนั้นมีจำนวน 24 ชิ้น กลายเป็นโบราณวัตถุอันมีค่า และถูกนำออกมาประมูลโดยสถาบัน Artcurial ในกรุงปารีส เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.
ชิ้นส่วนบันไดที่ถูกตัดออกมามีอายุถึง 129 ปี ความสูง 4.3 ม. มีจำนวนทั้งหมด 25 ขั้น น้ำหนัก 900 กก. เดิมเป็นของสะสมส่วนบุคคลในแคนาดา สำหรับชิ้นส่วนบันไดที่เหลืออยู่ที่สวนของมูลนิธิโยอิชิอิ ในญี่ปุ่น และที่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ และที่ดิสนีย์แลนด์ มลรัฐฟลอริดา
Artcurial ประเมินราคาบันไดชิ้นนี้ที่ 40,000-60,000 ยูโร หรือประมาณ 1.5-2.2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการตั้งราคาที่ต่ำพอสมควร หากพิจารณาจากความสำคัญของหอไอเฟล และจากสถิติการขายบันไดของหอไอเฟลเมื่อคราวก่อน เมื่อปี 2016 ซึ่งมีเพียง 14 ขั้น ยังขายได้ถึง 523,800 ยูโร หรือประมาณ 19 ล้านบาท โดยผู้ที่ซื้อไปเป็นเศรษฐีชาวเอเชีย
ปรากฏว่า วานนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีผู้ประมูลบันไดชิ้นประวัติศาสตร์ไปด้วยราคาสูงถึง 169,000 ยูโร หรือประมาณ 6.3 ล้านบาท โดยผู้ที่ประมูลไปได้เป็นบุคคลนิรนามจากตะวันออกกลาง
คำถามก็คือ หอไอเฟลทั้งหอมีราคาเท่าไร? ทางเรายังไม่พบการประเมินอย่างเป็นทางการ แต่สามารถอนุมานได้จากคดีฉ้อโกงบันลือโลกเมื่อปี 1925 เมื่อนักต้มตุ๋นชื่อก้อง วิกเตอร์ ลูซิก หลอกขายหอไอเฟลให้กับผู้สนใจ โดยลวงว่าทางการฝรั่งเศสไม่มีทุนในการบำรุงรักษา ในครั้งนั้นราคาขายหลอกๆ ของหอไอเฟลอยู่ที่ 100,000 ฟรังก์ หรือเท่ากับ 75,000 ยูโร ในยุคสมัยของเราเท่านั้น