WORLD NEWS

โดย M2F Writer

29 พฤศจิกายน 2561 : 15:31 น.

รายงานพิเศษต่างประเทศ

แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาที่สุด และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่น้อยคนที่จะทราบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนในหมู่ผู้สูงวัยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือกลุ่ม OECD

จากการสำรวจโดย OECD เมื่อปี 2016 พบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปีในเกาหลีใต้ ใช้ชีวิตอยู่ในภาวะความยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน เฉพาะหญิงชราเกาหลีใต้ที่อายุสูงกว่า 65 ปี มีถึง 47.2% ที่มีฐานะยากจน ยิ่งเป็นหญิงชราโสด เป็นคนยากจนถึง 76.6% กอปรกับเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำ และกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย นี่จึงเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นกลับละเลยปัญหานี้ แม้แต่ทีมงานสื่อกระแสใหม่ในประเด็นเอเชียอย่าง Asian Boss ก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จนพวกเขามาพบเห็นด้วยตาตัวเองว่า ผู้สูงวัยจำนวนมากกลายเป็นคนไร้บ้าน และใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นด้วยการเก็บขยะไปขาย

นอกเหนือจากการตั้งข้อสังเกตของทีมงานกลุ่มนี้แล้ว จากการค้นคว้าข้อมูลโดย M2F พบว่า หญิงชราหลายคนยังต้องเอาชีวิตรอดด้วยการขายบริการทางเพศ โดยขายบริการกันตามสวนสาธารณะ ซึ่งทำทีเป็นขายเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ Bacchus จึงเรียกกันว่า บัคคัส ฮัลโมอนี หรือ Bacchus Ladies หญิงชราที่มาขายบริการมีอายุตั้งแต่ 50-60 ปี ไปจนถึง 80 ปี มีรายได้ครั้งละ 20,000-30,000 วอน (ราว 570-870 บาท)

แต่ไม่ใช่หญิงชราทุกคนที่จะทำอาชีพนี้ ทีมงาน Asian Boss พยายามสัมภาษณ์คนชราที่ยากจนโดยใช้เวลานานหลายเดือน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากคนชราเหล่านี้รู้สึกอับอาย และไม่อยากจะถูกครอบครัวต่อว่า ทั้งนี้ สังคมเกาหลีเคยให้คร่ากับการดูแลผู้สูงวัย แต่เนื่องจากกลายสภาพเป็นสังคมวัตถุนิยม-บริโภคนิยม มีการแข่งขันสูง สินค้าและบริการมีราคาแพง ทำให้ลูกๆ หลานๆ ไม่สามารถแบกรับภาระผู้สูงวัยในบ้านได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ

ในที่สุด ทีมงานก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในสังคมผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้ง โดยหญิงชรารายนี้อายุ 82 ปี อาศัยอยู่ในห้องชั้นใต้ดินเพียงลำพังมานาน 5 ปี และดำรงชีวิตด้วยการเก็บเศษกล่องขาย แต่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากลูกๆ โดยคุณยายบอกว่า เพราะลูกๆ ทั้ง 5 คนก็ลำบากเหมือนกัน และแม้จะอายุขนาดนี้แล้วคุณยายยังต้องเดินเก็บเศษกล่องกระดาษกองใหญ่วันละถึง 14 ชม. เพื่อแลกกับเงินแค่ 2,000 วอน หรือไม่ถึง 60 บาท คิดเป็น 2 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตรามาตรฐานที่กำหนดว่าบุคคลนั้นอยู่ในภาวะยากจนหรือไม่

เงินเพียง 60 บาทกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นเรื่องที่แทบจินตนาการไม่ออก เฉพาะค่าอาหารราคาถูกก็สูงถึง 8,000 วอน หรือ 234 บาท ดังนั้น อาหารที่รับประทานเป็นประจำจึงเป็นแค่ข้าวสวยกับซีอิ๊วเท่านั้น และแม้ว่าจะมีเงินสวัสดิการคนชราจากรัฐเดือนละ 200,000 วอน (5,800 บาท) ก็ยังไม่พอใช้จ่ายอยู่ดี

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ