สสส.-ทส.ผนึก 5 พรรคการเมือง-ภาครัฐ-เอกชน ชงร่างกฎหมายอากาศสะอาดสู้วิกฤตคุณภาพอากาศมุ่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบสุขภาพประชาชนให้ตรงจุด
เมื่อวันที่ 28 มกราคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดงานประชุมเสวนาออนไลน์ “ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วย “อากาศสะอาด (Clean Air Act)” โดยมี ผู้แทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคการเมือง ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเสวนา
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จากข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ปี 2564 พบว่า ทุกภูมิภาคมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาคเหนือตรวจวัดได้สูงสุดอยู่ที่ 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 11 เท่า ถือเป็นวิกฤตคุณภาพอากาศของประเทศ ที่ผ่านมา สสส. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 อาทิ จัดตั้งสภาลมหายใจภาคเหนือใน 9 จังหวัด การบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn check) พัฒนาต้นแบบถนนอากาศสะอาดเขตปทุมวัน (Low Emission Zone) ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 150 แห่ง จัดตั้งป่าชุมชน 18 พื้นที่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) และจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
“สสส. กำหนดให้เรื่องมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) การจัดงานประชุมเสวนาฯ ครั้งนี้ มุ่งเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนให้เกิดอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สวมบทบาทเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้กำหนด และผู้ผลักดันให้เกิดการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพื่อจัดการปัญหามลพิษให้เกิดอากาศสะอาดโดยตรง ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดฉบับใหม่ให้สำเร็จภายในปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะหายใจด้วยอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียม” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิก และผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยอากาศสะอาดที่ครอบคลุมในทุกมิติ การประชุมเสวนาฯ ครั้งนี้ ทำให้เกิดมุมมองในการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพอากาศ ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ภาคการเมือง พัฒนากลไกในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศอย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนได้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดมากยิ่งขึ้น มุ่งสู่การมีคุณภาพอากาศที่สะอาด ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ทั้งนี้ ในการประชุมเสวนาฯ ครั้งนี้ ทุกภาคส่วนเห็นชอบในการสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ศ. ... และจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป