มหาดไทยขับเคลื่อนโครงการ"ผ้าไทยใส่ให้สนุก"ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่กรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมประชุมที่ปรึกษาและคณะกรรมการโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุม
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า หากจะกล่าวถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา คงไม่สามารถหาคำบรรยายใดที่จะอธิบายหรือพรรณนาได้เท่ากับสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดบุญกุศลต่อพวกเราในฐานะข้าราชการ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระดำริให้พวกเราได้ช่วยเหลือพี่น้องคนไทย อันเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนงานของพี่น้องประชาชน มีความเข้มแข็ง มีคุณค่า ยังเกิดผลดีกับประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ เราได้ทำหน้าที่ของคนดี ได้มาแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการปฏิบัติบูชาถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้แสดงออกให้คนไทยได้เห็นว่า เราไม่ลืมบุญคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระราชทานความช่วยเหลือให้กับคนไทย เพราะพระองค์ท่านทรงไม่เคยทรงหยุดคิด ไม่เคยหยุดทรงงาน เพื่อคนไทย ควบคู่กับความมั่นคงของชาติ รักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยในเรื่องผ้า ให้คงอยู่ และอีกเรื่องหนึ่ง คือ วัฒนธรรมความเป็นไทย ได้แก่ ผ้าไทย หรืองานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทยทั้งหลาย
“ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการขับเคลื่อนงานเพื่อสนองงานพระองค์ท่านในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ตามพระปณิธานของพระองค์ท่านที่มุ่งมั่นเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความสำเร็จสูงสุด” นายสุทธิพงษ์กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงงานอย่างหนักมาก โดยเสด็จฯ ไปในการพระราชทานคำแนะนำและกำลังใจให้กับประชาชนกลุ่มทอผ้าในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทรงช่วยพลิกฟื้นชีวิตคนไทยในชุมชนต่าง ๆ ได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งคำแนะนำด้านการพัฒนา การออกแบบ และการตลาด ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องน้อมนำแนวพระดำริเรื่อง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขยายผลให้กว้างขวางไปทั่วประเทศ ทั้งกรรมวิธีการทอผ้า การให้สี การตัดเย็บ การออกแบบ อันจะทำให้การส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เต็มรูปแบบ ในทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เราต้องสร้างเพชรเม็ดงามในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต ดังที่พวกเรามุ่งมั่นให้ประชาชนของพระองค์ท่านมีชีวิตอยู่ดีมีสุข
ด้าน นางรติรส จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีน้ำพระทัยที่มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการขับเคลื่อนงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง โดยที่ปรึกษาทุกคนขอปวารณาตัวในการทำงานด้วยความเต็มใจ เพื่อเป็นการสนองพระดำริของพระองค์ท่าน ที่ทรงต้องการให้ประชาชนคนไทยในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากภูมิปัญญาอัตลักษณ์ท้องถิ่น
จากนั้น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในรอบปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 ยอดจำหน่าย 8,393,605,378 บาท กลุ่มได้รับประโยชน์โดยตรง 12,665 กลุ่ม สมาชิกได้รับประโยชน์โดยตรง 110,034 ครอบครัว ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มียอดจำหน่าย 500,565,584 บาท กลุ่มได้รับประโยชน์โดยตรง 10,159 กลุ่ม สมาชิกได้รับประโยชน์โดยตรง 83,257 ครอบครัว
ด้านคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานโครงการสนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในปี 2565 จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน “สร้างแรงบันดาลใจ แบ่งปันความรู้” 4 ภูมิภาค 2) โครงการนาหว้าโมเดล เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ศิลปาชีพ 3) โครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4 ภาค 4 ชุมชน 4) โครงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา Young OTOP สู่สากล 5) โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสีธรรมชาติกรณีศึกษาสีย้อมร้อน และ 6) โครงการ Silk Festival 2022