THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

04 มกราคม 2565 : 11:26 น.

ศปถ.รายงานยอดเกิดอุบัติเหตุช่วงรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยเทศกาลปีใหม่ 6 วันของโครงการเกิด เกิดอุบัติเหตุ 2,488ครั้ง เสียชีวิตรวม 300 ราย บาดเจ็บรวม 2,471 คน สาเหตุขับรถเร็วนำโด่งตามด้วยเมาแล้วขับ

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่(ศปถ.) พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2565 โดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) เปิดเผยว่า เกิดอุบัติเหตุ 264 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 34 ราย ผู้บาดเจ็บ 274 คน แต่ถ้ารวมยอดอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64 – 3 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,488ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 300 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,471 คน

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.61 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.03 รองลงมา คือ รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 6.64 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 79.55 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.91 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 36.74 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 9.09 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี ร้อยละ 15.58

อย่างไรก็ตาม ด้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,905 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,730 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 437,936 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 91,546 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 26,248 ราย ไม่มีใบขับขี่ 23,253 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจันทบุรี (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (16 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 52 จังหวัด สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64 – 3 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,488 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 300 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,471 คน

สำหรับ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (92 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (20 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (91 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วันของการรณรงค์มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา แพร่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม และสุโขทัย

นายนิรันต์ กล่าวว่า ศปถ.ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนต่อเนื่อง สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายเพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง พร้อมฝากผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) คาดว่า เส้นทางสายหลักจะยังมีปริมาณการจราจรหนาแน่นในบางจุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนต่อเนื่อง สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง พร้อมกวดขันตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง คือ ห้ามดื่ม ห้ามเร็ว ห้ามง่วง ห้ามโทร ต้องสวมหมวกนิรภัย และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย” เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ