THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

06 ธันวาคม 2564 : 16:40 น.

กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือภาคี เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย ช่วยเด็กหลุดจากระบบการศึกษาช่วงโควิด19 นำร่องสมุทรสาครโมเดล

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้นจึงได้ออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ นำร่องที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นทักษะที่มีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงการปิดโรงเรียน ซึ่ง กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้ามาเสริมในส่วนของการค้นหานวัตกรรมมาช่วย เพื่อให้ไปสู่ผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัยฯ ที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่นี้เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังทำ หรือ Mission Recovering Education in 2021 แต่เราทำในบริบทของประเทศไทย โดยเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ผ่านเป้าหมาย 3 อย่างสำคัญดังนี้ 1.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการด้านอื่นๆ

2.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน และ3.ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ มาผสมผสานในการสอน ซึ่งผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำมาขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย(RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับนักเรียนนั้น เน้นการฟื้นฟูพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน ผ่านการเรียนการสอนทางไกล การพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ ผ่านกล่องการเรียนรู้หรือlearning box การพัฒนาทักษะสุขภาวะกายและจิต ใจ ผ่านการเรียนการสอนรายบุคคล ครอบคลุมทั้งผู้เรียนปกติและผู้เรียนที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกับ ครู ผู้ปกครอง และกลไกอาสาสมัครชุมชนร่วมด้วย

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสมุทรในยุคโควิด-19 คือการพยายามรักษาเด็กเยาวชนทุกคนให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นโจทย์สำคัญของการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่จังหวัดจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน เพื่อนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมากลับเข้ามาให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในชีวิต การแก้ปัญหาต้องขอความร่วมมือยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ