สสส.แจงรายงานประจำปี 2563 ส.ว.ชื่นชมงานสร้างเสริมสุขภาพได้ผลประจักษ์ คนไทยมีสุขภาวะดี ด้าน “ธรรมาภิบาล-ความโปร่งใส” เด่น ชี้ต้องยกระดับการทำงาน NCDs เดินหน้าภาษีความเค็ม เร่งขยายผลสร้างชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ
ที่ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 ในวาระรายงานประจำปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้ชี้แจง โดยมีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ร่วมอภิปรายประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพอย่างกว้างขวาง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ขอชื่นชม สสส. ในบทบาทของการเป็นผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ จนได้รางวัลเนลสันแมนเดลาที่เป็นรางวัลระดับโลก ผลงานของ สสส. สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และจิตใจ พร้อมรับมือทุกความเปลี่ยนแปลง เช่น สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นประโยชน์ ควรนำไปเรียนรู้ขยายผล จากนี้ สสส. ต้องผลักดันให้ประชาชน เอกชน ให้ความร่วมมือ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสุขภาพ เป้าหมายต่อไป สสส. ควรขยายการทำงานในประเด็นสุขภาพจิตของคนทุกกลุ่มวัย และมุ่งเน้นนวัตกรรม ขณะที่ผลประเมินเรื่องการบริหารจัดการ ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ที่ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้หน่วยงานอื่นๆ เรียนรู้ต่อไป
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การที่ สสส. ได้รับรางวัลเนลสัน แมนเดลา จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการสร้างเสริมสุขภาพ แสดงถึงความพยายามและสร้างผลงานมากมาย ที่ทำให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นตามลำดับ การทำงานของ สสส. ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)สนับสนุนรณรงค์การรับประทานอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม และจัดเก็บภาษีความหวาน ทำให้คนไทยบริโภคความหวานลดลง ดังนั้นคาดหวังว่า ประเด็นความมัน และเค็ม จะถูกบรรจุเข้าในมาตรการการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับภาษีความหวาน อย่างไรก็ตาม อยากให้ สสส. สร้างเสริมสุขภาพในเชิงลึกเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในลำดับต้นๆ ของประเทศ และให้มุ่งตรงไปสู่เป้าหมายของ สสส. คือการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการพัฒนาสังคม วุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย กล่าวว่า ขอชื่นชมผลงานของ สสส. ที่มีการทำงานเชิงระบบ เชิงนโยบาย และมีการขับเคลื่อนงานตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดการ “ระบบฐานข้อมูลตำบลและวิจัยชุมชน” ซึ่ง สสส. สนับสนุนให้องค์กรชุมชนต่างๆ พัฒนาระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และระบบวิจัยชุมชน (RECAP) โดยตำบล เพื่อตำบล และบูรณาการกับองค์กรอื่นเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำให้หน่วยงานรู้ปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง และสามารถนำข้อมูลใช้วางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง ทำให้ “ตำบลมั่นคง เข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เกิดขึ้นจริง การทำงานของ สสส. ยังสอดคล้องและส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้เกิดเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,400 ตำบล สมควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ทำทุกตำบลทั่วประเทศโดยกรรมาธิการพัฒนาสังคม วุฒิสภา อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้และจะผลักดันเข้า ครม. ต่อไป