ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ที่ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา เบตา อัลฟา หรือแกรมมา แต่เป็นการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ ข้อมูลการตรวจชี้แพร่เชื้อได้ง่ายและอาจเร็วขึ้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
-"โอไมครอน" (Omicron) เป็นชื่อที่องค์การอนามัยโลกใช้เรียก โควิด 19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529
-โอไมครอนถูกพบเมื่อกลางเดือนพ.ย. 64 ที่ประเทศบอสวาน่า
-ปัจจุบัน (28 พ.ย. 64) มีรายงานพบการติดเชื้อจากหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ อิสราเอล เบลเยียม ฮ่องกง เยอรมัน ฯลฯ
-ข้อสำคัญคือบางคนที่ตรวจพบเชื้อเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
-จากข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย. 64 ของระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายที่ถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่าง ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนอัลฟาและเบตาพบบ้างเล็กน้อย
-สายพันธุ์โอไมครอนถูกจัดชั้นให้เป็นสายพันธ์ที่น่าห่วงกังวล เพราะมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งสไปค์โปรตีนซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างน้อย 32 ตำแหน่ง (เทียบกับสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีนเพียง 9 ตำแหน่ง) ดังนั้นจึงต้องจับตากันต่อไปว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปนั้นจะก่อปัญหาอะไรต่อไปหรือไม่
-ขณะนี้ข้อมูลความรุนแรงและการระบาดของสายพันธุ์นี้ยังมีไม่มากพอ จึงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป
-จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะแพร่เชื้อได้รวดเร็ว และน่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้
-ข้อมูลการตรวจเจอเชื้อพบว่า ct ค่อนข้างต่ำซึ่งหมายความว่าปริมาณเชื้อมาก บ่งชี้ว่าเชื้อ Omicron น่าจะแพร่เชื้อได้ง่ายและอาจเร็วขึ้น
-องค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อทราบข้อมูลสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด
-สายพันธุ์ โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา เบตา อัลฟา หรือแกรมมาแต่อย่างใด เป็นการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ ข้อห่วงกังวลคือกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และถูกยกให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลโดยองค์การอนามัยโลก
-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในโลกนี้ ติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำไปสู่มาตรการรับมือที่เหมาะสม โดยที่ระบบเฝ้าระวังในทางห้องปฏิบัติการของไทยมีเพียงพอ และใช้มาตรฐานเดียวกับระดับโลก
-การตรวจไวรัสสายพันธ์โอไมครอนยังตรวจได้เหมือนสายพันธุ์อื่น ไม่ว่าจะด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือการคัดกรองด้วย ATK
-กระทรวงสาธารณสุขยังได้ประสานกับโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของ ASQ ว่าเมื่อตรวจพบเชื้อโควิด 19 จากตัวอย่างของผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย เพื่อตรวจสอบว่าพบเชื้อไวรัสที่ตรวจพบนั้น เป็นเชื้อสายพันธุ์น่ากังวล เช่น สายพันธุ์ โอไมครอน หรือไม่
- ข้อควรปฏิบัติของประชาชนคือ ยังจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อมีอาการสงสัยให้รีบตรวจหาเชื้อ และที่สำคัญขอให้เร่งมาฉีดวัคซีน