กสศ.ยึด 6 แนวทางมาตราการลดความเสี่ยงเด็กหลุดระบบการศึกษาช่วงโควิด-19
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ครูและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการจัดสรรทุนเพื่อให้มีค่าครองชีพ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีนี้ แนวโน้มของรายได้เฉลี่ยต่อสมาชิกของบุคคลในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจนักเรียนยากจนพิเศษที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่า นักเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด มีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนกว่า 200,000 คน ทั้งการขาดโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ จึงได้ส่งข้อมูลไปยังต้นสังกัด เพื่อให้ผู้บริหารนำไปใช้ประโยชน์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น ส่วนการกลับมาเรียนของนักเรียนยากจนพิเศษนั้น พบว่า ทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในช่วงชั้นรอยต่อ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้จัดสรรเงิน
ทั้งนี้ จากการสอบถามด้วยว่าจะมีการศึกษาต่อหรือไม่ พบว่า มีเด็กจำนวนกว่า 43,000 คน ยังไม่พบข้อมูลการเรียนต่อ ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 เนื่องจากต้องช่วยครอบครัวทำงาน เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 หรือดูแลผู้ปกครองที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งได้ส่งข้อมูลไปยังต้นสังกัดทั้งหมดแล้ว หากผู้บริหารได้พบข้อมูลทั้งหมดนี้หรือมีโอกาสได้ติดตามเด็กกลุ่มนี้ ขอให้นำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาต่อไป. ดังนั้น กสศ. จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สพฐ. สถ. ตชด. หน่วยงานในภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เด็กยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงการจัดสรรทุนของ กสศ. ด้วยการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ให้เกิดการคัดกรองนักเรียนที่มีความยากจนได้รับทุนทางการศึกษา ส่งความช่วยเหลือได้อย่างรอบด้าน
ดร.ไกรยศ กล่าวว่า การทำงานในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จะต้องดำเนินการภายใต้นโยบายทั้งหมด 6 ข้อคือ 1.เฝ้าระวังและติดตามภาวะทุพโภชนาการเป็นรายบุคคล ขอให้ครูช่วยบันทึกข้อมูลเหล่านี้ เข้าสู่ระบบสารสนเทศมาด้วย เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่า เด็กมีผลกระทบอย่างไรหลังจากที่ปิดโรงเรียนไปเป็นเวลานาน 2. เฝ้าระวังติดตาม และส่งต่อเด็กที่มีความเครียดและซึมเศร้าเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีความพร้อมทางสภาพจิตใจในการเรียน 3.เฝ้าระวังติดตาม ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เป็นรายบุคคล เพราะบางส่วนอาจจะไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ในช่วงที่หยุดเรียนไปแม้จะมีการเรียนออนไลน์ 4.ติดตาม ค้นหา และส่งต่อเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อ 5.วางแผนและบริหารจัดการความเสี่ยง จากการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำงานด้วยกระบวนการจัดการเชิงพื้นที่ บูรณาการทั้งในระดับท้องถิ่น และภาคประชาชน เพื่อดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และ6.การบูรณาการระบบสารสนเทศให้เป็นแบบ ONE Application เชื่อมโยงระบบ CCT ของกสศ. และ DMC ของ สพฐ. เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อติดตามและให้มีความสะดวกในการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป