THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 พฤศจิกายน 2564 : 19:06 น.

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “50 ปี IPSR มุ่งหน้ามองอนาคต” ในวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันฯ วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยในปีนี้ สถาบันฯ ได้ถึงวาระครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี งานเสวนานำโดยการปาฐกถาพิเศษ โดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ตามด้วยการนำเสนอรายงาน 50 ปี IPSR: ประชากรและสังคมในวัยครึ่งศตวรรษ โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล และปิดท้ายด้วยการเสวนาโต๊ะกลม โดย รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันฯ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และผศ.ดร. สิรินทร์ยา พูลเกิด โดยถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Facebook page: The Prachakorn

การเสวนาโต๊ะกลมนำด้วยการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประชากรไทยในภาวะวิกฤตโควิด-19” โดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ระบาดสูง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร และการรับมือกับโควิด-19 และอุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบปัจจุบัน คือ จังหวัดอ่างทอง 

นายวีรัศักดิ์ กล่าวถึงหลักการในการทำงานคือ หลัก “ท.ท.ท.” ทำทันที และ หลักทำงานทุกที่ ไม่หมักมมปัญหา ไม่สะสมปัญหา ทำให้เร็วที่สุด เพราะการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ ไม่ได้ปัญหาเพียงเรื่องเดียว ทุกปัญหามีความสำคัญและบริบทที่แตกต่างกันออกไป ไม่อยากให้ทุกคนมองปัญหาเป็นเรื่องที่ทำความยุ่งยากลำบาก คนทำงานราชการคือทำงานเพื่อแก้ปัญหา ผู้ว่าฯ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง และชี้ว่าการทำงานต้องทำทันทีเพราะหากรอนานไปแล้วเราอาจจะไม่มีชีวิตอยู่ถึงวันที่แก้ปัญหา ดังนั้นการทำงานคือต้องทำทันที และทำอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างมีรูปธรรม ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ คิดการใหญ่ และทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นความร่วมมือของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา เช่น การมีอาสาต่างด้าว การตั้งโรงพยาบาลสนามในชุมชน โรงพยาบาลสนามในโรงงาน ก็เป็นปัจจัยช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครไปได้ 

สำหรับ เป้าหมายการจัดการกับโควิดในจังหวัดอ่างทอง ภายใต้ “มาตรการคนอ่างทองสุขใจ” มี 3 อย่างคือ 1. COVID free setting ทำอย่างไรให้สถานที่ปลอดโควิด เช่น โรงเรียน สำนักงานต่าง ๆ ใครไม่มีใบรับรองฉีดวัดซีนไม่สามารถเข้าใช้บริการสถานที่เหล่านี้ได้ 2. Reduce COVID infection ตั้งเป้าว่าภายในเดือนพฤศจิกายนต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5 รายในแต่ละวัน 3. Get COVID vaccine เนื่องจากจังหวัดอ่างทองมีอัตราการฉีดวัคซีนน้อย ทำอย่างไรให้คนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น 

ท่ามกลางปัญหาอุทกภัยในปัจจุบัน จังหวัดอ่างทองยังต้องมีการจัดการน้ำ ซึ่งต้องตามด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน มีธนาคารน้ำ บริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ผันน้ำเข้าคู คลอง หนอง บึงที่ยังแห้งอยู่ หรือผันน้ำเข้าบ่อทรายที่มีอยู่หลายแห่งในจังหวัด และจะต้องคิดถึงวิธีการนำน้ำมาใช้ในช่วงแล้งอีกด้วย และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างระบบนิเวศให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดผ่านโครงการ “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” 

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้การนำเสนอรายงาน 50 ปี IPSR: ประชากรและสังคมในวัยครึ่งศตวรรษ เพื่อระลึกถึงการก่อตั้งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดยแรกเริ่มนั้นประเทศไทยได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยประชากรสังคม” ในปี 2509 เพื่อเป็นฐานในการวิจัยและผลิตบุคลากรทางประชากรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมา ศูนย์ฯ ได้ยกระดับเป็น “สถาบันวิจัยประชากรและสังคม” ในปี 2514 โดยเป้าหมายของสถาบันฯ คือ “การทำวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติการและหลักวิชาการด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม และการวางแผนครอบครัวในส่วนที่สัมพันธ์กับทางการแพทย์และการสาธารณสุข” และ “มีหน้าที่บริการสอนและฝึกอบรม รวมทั้งเป็นศูนย์อ้างอิงข้อมูลทางประชากร” ตั้งแต่อดีจนถึงปัจจุบัน สถาบันฯ ได้ทำโครงการวิจัยถึง 731 สัญญา โดยเป็นงานวิจัยด้านประเด็นทางประชากร 29.3% ด้านสุขภาวะและคุณภาพชีวิต 29% ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ 16.3% ด้านเพศภาวะ/เพศวิถี 5.3% ด้านสุขภาวะครอบครัว 3.7% และอื่น ๆ 16.4%

รศ.ดร.กฤติยา กล่าวว่า สถาบันฯ มีการคืนความรู้สู่สังคมผ่านสิ่งตีพิมพ์จำนวน 629 ชิ้น ผ่านเวทีประชุม สัมมนา เช่น เสวนาใต้ชายคาประชากร การประชุมประชากรและสังคม The Prachakorn Forum และผ่านทางออนไลน์ เช่น ศูนย์ข้อมูลทางประชากร ศูนย์ข้อมูลภายใต้โครงการวิจัย และเว็บไซต์ The Prachakorn ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา สื่อมวลชนได้เขียนถึงงานของสถาบันจำนวน 1,412 ครั้ง โดยนับเป็นประเด็นทางประชากรและการเปลี่ยนแปลง 40% สุขภาพและคุณภาพชีวิตประชากร 26% เพศภาวะ/เพศวิถี 15% อนามัยเจริญพันธุ์ 10% สุขภาวะครอบครัว 3% และอื่น ๆ 6% 

อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ยังมีจุดเด่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการฉายภาพและคาดประมาณระชากรไทย เช่น ประชากรในประเทศ ฉายภาพอัตราการตายของเด็กและทารก จำนวนเด็กกำพร้าที่แม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ คาดประมาณจำนวนประชากรกลุ่มชายรักชาย ประชากรโสเภณีเด็กอายุ 11-17 ปี และเป็นหน่วยงานแรกที่คาดประมาณจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนั้นสถาบันฯ ยังทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้และทบทวนสถานการณ์ด้านประชากร เพื่อปูความรู้ให้กับผู้จัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้อง สถาบันฯ ยังทำหน้าที่เชื่อมศาสตร์ทางประชากรสู่สังคม 4 ด้านด้วยกันคือ 1. ประชากร-สังคม การเชื่อมงานข้ามศาสตร์ 2. พฤติกรรมสู่คุณภาพชีวิต และการเชื่อมงานสุขไทยเข้ากับสุขภาพโลก 3. จากตัวเลขเห็นชีวิต เชื่อมตัวเลข สถิติต่าง ๆ เข้ากับกลุ่มประชากรชายขอบของสังคม 4. ภาควิชาการกับการขับเคลื่อนทางสังคม

สำหรับ กิจกรรมครบรอบ 50 ปี ปิดท้ายด้วยการเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “50 ปี IPSR มุ่งหน้ามองอนาคต” จากวิทยากร 4 ท่าน รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และผศ.ดร. สิรินทร์ยา พูลเกิด โดยมี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยวิทยากรได้ร่วมสนทนาเกี่ยวกับโอกาสของสถาบันฯ ท่ามกลาง digital disruption วิกฤตการณ์ต่าง ๆ การใช้จุดแข็งของสถาบันฯ เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานวิจัยในประเด็นที่ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น รวมไปถึงแนวทางในการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน 

ด้าน ผศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอาหาร เน้นว่า ความหมายของ Disruption จะไม่ใช่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทีเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น Disruption ยังคาบเกี่ยวไปถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อสังคม ผู้คน และแนวทางการดำเนินนโยบายรัฐเช่นกัน วิกฤติโรคโควิด-19 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางอาหาร คุกคามความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของประชากรโลกหลายล้านคน ในจำนวนนี้ ได้รับผลกระทบไปจำนวนมากแล้ว พวกเราอาจต้องเผชิญกับการพลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงของการทำงานของระบบอาหาร ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและโภชนาการของประชากร คำถามวิจัย คือ การเตรียมรับมือในช่วงหลังโควิดของไทยควรเป็นอย่างไร นโยบายอาหารควรเป็นแบบไหนในยุค disruption เพื่อนำไปสู่ฟื้นคืนระบบอาหารสู่สภาพเดิม ดังนั้น การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจึงสำคัญอย่างมาก เพื่อหลีกเลียงไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรง แต่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของระบบอาหารในภาวะวิกฤตนี้ ไปสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกิดการ balance ของทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน 

ขณะที่  ผศ.ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา พูดถึงรากฐานของสถาบันฯ ที่จะนำไปสู่ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ และสถาบันฯ จำเป็นต้องสร้างและนำเสนองานที่มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มในระดับมหภาคหรือ megatrend ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชากร เช่น สังคมสูงวัย ต้องมองทั้งปีระมิดประชากรด้วยว่า จะเสริมสร้างคุณภาพของวัยเด็กอย่างไร เพื่อให้โตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เรื่องปัญหาของประชกรวัยแรงงาน การส่งเสริมผลิตภาพแรงงาน อีกประเด็นหนึ่งคือการเคลื่อนย้ายของคน คำถามที่สำคัญคือ ก่อนและหลังโควิด เราคิดว่าการเคลื่อนย้ายของประชากรทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก มีการเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลายมากน้อยอย่างไรบ้าง ระบบออนไลน์และเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไหม ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของประชากรและการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นเชี่ยวชาญของ ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ ด้วยรูปแบบของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปที่เป็น next normal แนวโน้มการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น งานวิจัยเราต้องมองเห็นตรงนี้ ต้องมีการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการ เทคนิค และจำเป็นต้องมีการลงทุนตรงนี้ การทำงานจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ ให้ศาสตร์อื่นมาช่วยชูประเด็นทางประชากรให้โดดเด่น น่าสนใจ ให้เข้าใจ สามารถนำไปสร้างผลกระทบได้

รศ.ดร. อารี จำปากลาย เน้นถึงความสำคัญของงานวิจัยที่ตอบสนองเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG งานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม งานวิจัยที่ให้ข้อค้นพบที่สามารถเสนอเป็นนโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยที่ตอบสนองทางประชากรต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม งานวิจัยที่นับรวมกลุ่มประชากรเฉพาะ รศ.ดร.อารี เน้นว่า การนำความรู้ทางสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะด้านประชากรและสังคม ให้มีบทบาทมากขึ้นยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตราบใดที่ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่โดยธรรมชาติแล้วยังมีรากฐานมาจากความเป็นมนุษย์ และยังมี blue ocean ของงานวิจัยด้านประชากรและสังคม 

ทั้งนี้ สถาบันมาถึงจุดที่เรามีอายุได้ 50 ปี เป็นการจบครึ่งศตวรรษแรก หลังวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ก็จะเป็นวันที่สถาบันฯ จะเข้าสู่ครึ่งศตวรรษที่สอง เป็นช่วงเวลาเดียวกับยุคของการเปลี่ยนโลกเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาตร์ของสถาบันฯ เช่นเดียวกัน 50 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางประชากรเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ประวัติศาสตร์ประเทศไทยต้องจารึก ประชากรไทยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 35 ล้านคนในปี 2514 เป็นเกือบ 67 ล้านคนในปีนี้ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มจากไม่ถึงสองล้านคน เป็น 12 ล้านคน คนมีอายุยืนยาวขึ้นจากประมาณ 60 ปี เป็น 74-81 ปี จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงจากล้านกว่าคนต่อปีเหลือไม่ถึง 6 แสนคนต่อปี เมื่อมองไปข้างหน้าในอีก 20 ปี ประชากรไทยอาจลดลงเหลือ 65 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคนในวันนี้เป็น 21 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 50 ปีผ่านไปเรากลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูงเป็นอันดับสองของอาเซียน เป็นรองก็แต่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้มีความหมายต่อคุณภาพของสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สิทธิ และอื่น ๆ และมีผลต่อการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ