THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

11 พฤศจิกายน 2564 : 20:10 น.

สรพ.กำหนดทิศทางการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ตั้งเป้ายกระดับการรับรองมาตรฐาน HA ของไทยให้อยู่ในระดับสากล

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่อาคารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลง “ทิศทางการดำเนินงานของ สรพ. ภายใต้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5” โดย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. คนใหม่ ประกาศตั้งเป้าหมายดันองค์กร “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย” เป็นองค์กรที่มีชีวิต องค์กรที่เป็นมิตร และองค์กรที่ใครๆก็คิดถึง 

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวในโอกาสที่ได้เข้ามารับบทบาทเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำงานของ สรพ. ได้ตั้งใจที่จะสานต่อภารกิจหลักของ สรพ. ที่มีด้วยกัน 6 ด้าน คือ 1. การพัฒนามาตรฐานและรับรอง การกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 2. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพของสถานพยาบาล 3. สร้างกลไกการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของสถานพยาบาล 4. สนับสนุน ดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการประเมิน การพัฒนาและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 5.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศหรือต่างประเทศ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ 6. ฝึกอบรมสถานพยาบาลให้เกิดความเข้าใจการประเมิน การพัฒนาและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

“การดำเนินงานต่างๆ โดยหลักต้องดำเนินการตามบทบาทภารกิจจัดตั้งองค์กร เพียงแต่จะปรับวิธีและรูปแบบที่จะบรรลุเป้าหมายให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีหน้าที่มาสานต่อและต่อยอดสิ่งดีๆที่อดีตผู้บริหารทั้งสองท่านได้เริ่มและทำไว้ ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่ ผู้อำนวยการ สรพ. ท่านก่อน ระบุว่า ‘ระบบบริการสุขภาพ มีคุณภาพ และไว้วางใจได้ด้วยมาตรฐาน HA’ เราตั้งใจจะสานต่อวิสัยทัศน์นี้ที่กำหนดไว้ โดยจะต่อยอดให้เกิดความท้าทายมากขึ้น คือ เติม คำว่า ‘ในระดับสากล’ เข้าไปเพื่อให้เกิดเป็น ‘ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และไว้วางใจได้ ในระดับสากล ด้วยมาตรฐาน HA’ หมายความว่า ไม่ใช้เฉพาะในประเทศแต่จะสู่ระดับสากล ซึ่งจะนำมาสู่การปรับรูปแบบการทำงาน การเพิ่มเวทีของการขับเคลื่อนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเดิม” พญ.ปิยวรรณ กล่าว 

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า เป้าหมายในปีต่อไป สรพ. จะปรับระบบการจัดการภายในองค์กร คือให้สามารถ “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย” เป็นองค์กรที่มีชีวิต เป็นมิตร และใครๆ ก็คิดถึง โดยให้ตลอด 4 ปีของการทำงานจากนี้จะวางรากฐานองค์กรให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีความเป็นสากล “การสร้างระบบบริการสุขภาพของไทยให้เป็นสากล ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นทั้งในไทย และระดับสากล สิ่งที่เราทำให้มีความเป็นสากล  คือองค์กรเราต้องผ่านการประเมินจากองค์กรระดับสากล ในลักษณะการทำงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการรับรองให้กับองค์กรที่ให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่ง สรพ. ผ่านการรับรองมาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประกาศภายในปีนี้ ความเป็นสากล ของเราเริ่มด้วยการทำตัวเองให้เป็นสากล และขณะนี้เราเริ่มติดต่อองค์กรต่างประเทศมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการให้ระบบบริการสุขภาพดีมีคุณภาพ

ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าว ที่ผ่านมาสรพ.เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างประสบความสำเร็จและมีคุณค่า แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย จากความสำเร็จระดับบนยอดเขาที่ผู้นำทั้งสองท่านได้ทำไว้ มีโอกาสที่จะขยับลง โรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินรับรองราว 60 -70 เปอร์เซ็นต์ จากโรงพยาบาล 1,400 กว่าแห่งทั่วประเทศ หรือประมาณ 700 กว่าสถานพยาบาลที่อยู่ในกระบวนการรับรองมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาลที่ผ่านมา อาจเริ่มมีข้อจำกัดด้วยสถานการณ์ทำให้เข้าสู่กระบวนการคุณภาพลดลง กระบวนการเยี่ยมสำรวจที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ การฝึกอบรมที่ไม่สามารถจัดที่สถานที่ได้ และสถานการณ์อื่นที่ท้าทาย สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ภารกิจ 6 ด้าน ของ สรพ. ทำไม่ได้เหมือนที่เคยทำ เช่น การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินต้องปรับเป็นแบบ Virtual conference ดังนั้นเราต้องมาดูกันว่าหลังจากนี้เราจะดำเนินการในด้านการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างไร รูปแบบไหน ทำให้ภารกิจในการประเมิน รับรองเปลี่ยนแปลงไป เราจะทำอย่างไรให้งานประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาลมีคุณค่า มีความหมาย และโรงพยาบาลจะเข้าสู่กระบวนการได้อย่างมีความสุข นี่คือสิ่งที่ท้าทายการทำงานหลังจากนี้ 

“ส่วนภารกิจด้านการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาล เรามองเห็นกันชัดเจนว่าต่อให้เกิดโควิด-19 ระบาด นักพัฒนาหรือผู้เชี่ยวชาญยังสามารถร่วมพัฒนามาตรฐานได้ นั่นจึงเป็นที่มาของ มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 จึงเกิดขึ้นมาได้และที่สำคัญเป็นช่วงสถานการณ์ที่ทำให้เราสามารถปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราปรับนำเข้าไปไว้ในมาตรฐาน เช่น ระบบการรักษาทางไกล Telemedicine ในการพัฒนามาตรฐานของโรงพยาบาล เป็นต้น” ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าว 

สำหรับ ก้าวแรกของการเข้ามาทำงาน ด้านระบบการรับรองมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยในสถานพยาบาลของ พญ.ปิยวรรณ มาจากประสบการณ์แพทย์ในพื้นที่ห่างไกล และการเป็นแพทย์เฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยแล้วมองเห็นปัญหาในระบบความปลอดภัยในสถานพยาบาล จึงอยากทำเรื่องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ดี จึงเข้ามาร่วมงานกับ สรพ. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. พ.ศ. 2555 นับถึงตอนนี้เป็นระยะเวลา 9 ปีแล้ว ด้วยความตั้งใจว่าอยากมาทำคำตอบของการรับรองคุณภาพ ที่หลายคนมักจะตั้งคำถามกับการรับรองคุณภาพว่ามี HA แล้วได้อะไร ซึ่งคำตอบที่แท้จริง เมื่อมีการรับรองไปแล้ว ระบบตรงนี้จะทำอย่างไรให้คนไข้ปลอดภัย และจะพัฒนาให้ระบบความปลอดภัยของผู้ป่วย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของสังคม และขยับไปเป็น บุคลากร และ ประชาชน จุดเริ่มต้นการทำงานเรื่องระบบความปลอดภัยในสถานพยาบาล ของ สรพ. เองเริ่มต้นมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่ก่อนก่อตั้งองค์กรขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยกลไกส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อปี พ.ศ.2540  โดยการนำของ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล อดีตผู้อำนวยการ สรพ. ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานในกำกับของ สวรส. ในชื่อว่า “สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล” หรือ พรพ. เมื่อ พ.ศ. 2542 ดำเนินงานเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี กระทั่งในปี 2552 จึงปรับหน่วยงานออกมาเป็นองค์การมหาชน ภายใต้ชื่อ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล  เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน และทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและมีคุณภาพ

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ