กสศ.ผนึกกำลัง 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองเจาะลึก GAP การศึกษาไทย ชูครูเป็นก่อการ ร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ แนะโรงเรียนใช้ 5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยรับเปิดเทอม
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้แก่ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และ 11.สพป. สุรินทร์ เขต 2 ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ จำนวน 659 แห่งทั่วประเทศ จัดเสวนาออนไลน์ “โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า ว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้ เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย มานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด -19 เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนา ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อและเปลี่ยนระบบโรงเรียนต้องเป็นชุมชนการเรียนรู้ (learning community) ทั้งของครูและของศิษย์ ถ้าการศึกษาใดครูไม่เป็นผู้ก่อการ หวังยากมากที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพสูง
ด้าน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กล่าวว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่เข้ามาซ้ำซ้อนวิกฤตช่องว่างการเรียนรู้เดิม ดังนั้นเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงพยายามใช้มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย มี 5 ด้าน สำคัญ ได้แก่ 1.การประเมินสภาพแวดล้อมเด็กและครอบครัวทั้งระบบ ผู้ปกครองและครูสามารถช่วยกันประเมินความพร้อมของเด็กเป็นรายคน เช่น งานวิชาการบางอย่างเด็กเคยทำได้แต่วันนี้กลับทำไม่ได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจของครอบครัว การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 2.การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อฟื้นฟูการเรียนถดถอย 3.สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู 4.การช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล เพราะสถานการณ์ที่บ้านของเด็กมีความต่างกัน ต้องประเมินเพื่อจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคลและ5.การติดตามและปรับปรุง ต้องทำในระยะสั้น ทำไปปรับไป เพื่อให้ทันสถานการณ์
ขณะที่ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึง หลายประเทศให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) เพราะเด็กกลับมาด้วยพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ครูต้องสามารถประเมินรายคนได้ ควรได้รับการติดตามและเยียวยาเป็นรายบุคคลจนพัฒนาการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ