ผู้ว่าฯกทม.ประชุมร่วมกับผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ ย้ำต้องประสานความร่วมมือเพื่อให้ประชาชนได้รับลดผลกระทบน้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการระหว่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล การไฟฟ้านครหลวง กอ.รมน.กทม. (ฝ่ายทหาร) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองบังคับการตำรวจจราจร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทุกภาคประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะนี้มวลน้ำกำลังเดินทางลงสู่ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยได้มีนโยบายให้กรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรุงเทพมหานครจึงจัดการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากน้ำเหนือไหลหลากให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ(รฟม.)
ทั้งนี้ จังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุม ทั้ง 6 จังหวัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อมีความเชื่อมโยงกัน โดยจะประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนให้ได้รับลดผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนั้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทรจะลดลงต่ำกว่า 2000 ลบ.ม./วินาทีในวันที่ 20 ต.ค.64 ซึ่งจะทำให้ กทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้