สสส. เปิดผลสำรวจ 4 ข่าวลวง-ข่าวลือที่ผู้สูงวัยเผชิญช่วงโควิดชูสูงวัยรู้ทันสื่อ ปรับความคิดจากเหยื่อสู่การเป็น Active Citizen
มูลนิธิคนตัว D ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ "สูงวัยจะรับมือข่าวลวง (Fake News) อย่างไรในช่วงโควิด" ลุยสำรวจพบ 4 ข่าวลวง-ข่าวลือป่วนผู้สูงวัย ทั้งการกล่าวอ้างสรรพคุณสมุนไพรเกินจริง ข่าวลือคนในชุมชนติดเชื้อโควิด ผลกระทบการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และการขอรับบริจาค แนะทางออกชูผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ เปลี่ยนจากเหยื่อให้กลายเป็น Active Citizen หรือผู้ที่มีพลังสื่อสารเปลี่ยนแปลงในสังคม
นายวันชัย บุญประชา กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เราพบสถิติว่า ในภาพรวมแม้จะมีผู้สูงวัยที่เป็นผู้ติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์ไม่มากนัก แต่สถิติการเสียชีวิตกลับสูงมาก ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันโรคจะมุ่งไปที่ผู้สูงวัยค่อนข้างมาก แต่ผู้สูงวัยกลับไม่ได้ปฏิบัติหรือทำตามมาตรการที่ได้รับการสื่อสารมากนัก ทางมูลนิธิคนตัว D มองเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้มีการจัดทำโครงการสำรวจผู้สูงวัยเพื่อค้นหาปัญหาในการรับข้อมูลการสื่อสาร เพื่อให้เกิดแนวทางในการทำงานที่จะช่วยสนับสนุนและสามารถดูแลสุขภาวะผู้สูงวัยในช่วงวิกฤตินี้ให้ดีขึ้น
ด้าน นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้สูงวัยนับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด และต้องยอมรับว่าสื่อมีผลกระทบสูงมากกับความปลอดภัยของผู้สูงวัย ปัจจุบันผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่มีสถิติพบว่า 97% ของคนในสังคมเคยพบเจอข่าวลวง ในส่วนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงมุ่งที่จะพัฒนาพลเมืองทุกช่วงวัยให้เท่าทันสื่อ รอบรู้ และมีจิตสาธารณะ รวมถึงผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ มีพลังและมีคุณค่า เราจึงมุ่งที่จะส่งเสริมและผลักดันกลุ่มผู้สูงวัยให้เป็น Active Citizen หรือผู้ที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกับพลเมืองในทุกช่วงวัย
ขณะที่ อาจารย์ จิราณีย์ พันมูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้เปิดเผยผลสำรวจ การเข้าถึงสื่อ การรับรู้ข่าวปลอมและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ปี 2564 ว่า "จากการเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงวัยในพื้นที่โครงการเสริมสร้างกลไกสูงวัยรู้ทันสื่อระดับจังหวัดของมูลนิธิคนตัว D พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ข่าวลือและข่าวลวงที่ผู้สูงวัยพบบ่อยที่สุดแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นคือ 1. การกล่าวอ้างสรรพคุณสมุนไพรเกินจริง 2. ข่าวคนในชุมชนติดเชื้อโควิด 3. ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 4. การขอรับบริจาค
ทั้งนี้ ข่าวลือและข่าวลวงทั้ง 4 ประเด็นนี้ ส่งผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจและอารมณ์ต่อผู้สูงวัย ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เกิดความหวาดระแวงและการตีตรารังเกียจกันในชุมชน มีความแตกแยกทางความคิด ทั้งนี้พบว่าเมื่อผู้สูงวัยรับข่าวมา แม้จะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะส่งต่อด้วยความหวังดี แต่ในกลุ่มผู้สูงวัยที่ได้ผ่านการอบรมให้ความรู้เรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ จะมีการส่งต่อข่าวลือข่าวลวงน้อยลง เมื่อรับข่าวสารมาจะมีการอ่านอย่างละเอียด ทำความเข้าใจ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นการเป็นข่าวลือข่าวลวงมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจส่งต่อข่าวออกไป"
ขณะที่ นางปราณี รัตนาไกรศรี ตัวแทนกลุ่มอาสาสูงวัยรู้ทันสื่อ จากชุมชนเคหะร่มเกล้า ได้กล่าวสะท้อนประสบการณ์ว่า "ยอมรับว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะมือไว เราจะมีการติดต่อกันทางกลุ่มไลน์เป็นหลัก บางครั้งได้รับข่าวสารมา ไม่ทันได้ดูให้ดีหรือตรวจสอบก็ส่งต่อให้กันทางกลุ่มไลน์เลย การส่งจะเร็วมาก ส่งทีหนึ่งได้หลายกลุ่มเป็นร้อยคน ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาที่เห็นชัด ๆ เลยคือเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ตอนแรก ๆ ผู้สูงวัยก็ไม่รู้อะไร เขาบอกให้ไปฉีดก็จะไปฉีด แต่พอเริ่มมีการส่งต่อข่าวมาว่ามีคนได้ผลกระทบหลังจากฉีด ก็เริ่มกลัวกัน เปลี่ยนใจไม่ยอมฉีด
อย่างไรก็ตาม บางทีลูกหลานก็ไม่ให้ฉีด จนในชุมชนเริ่มมีผู้ติดเชื้อเยอะขึ้นเป็นระดับคลัสเตอร์ ผู้สูงวัยก็เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เริ่มเน้นการพยายามสร้างความเข้าใจกับผู้สูงวัย ช่วยกันระดมกำลังสำรวจในชุมชน ประกอบกับในชุมชนเริ่มได้เห็นตัวอย่างของผู้สูงวัยที่ฉีดวัคซีนเมื่อติดเชื้อแล้วไม่เสียชีวิต ก็เริ่มให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนมากขึ้น สถานการณ์ชุมชนก็เริ่มดีขึ้น ตนคิดว่าสิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลความจริง และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้สูงวัย จะช่วยทำให้ผลกระทบจากข่าวลือข่าวลวงน้อยลงได้