สสส. เผย 10 เล่มหนังสือชวนอ่านสร้างพลังใจ ฝ่าด่านความเครียดภาวะซึมเศร้า ยุคโควิด-19
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เปิดเผยว่า แผนงานฯการอ่าน สสส. ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา และเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม ได้ดำเนินการโครงการ “พลังวรรณกรรม เพื่อเสริมพลังชีวิต” เพื่อเชิญชวนคนในสังคมได้ใช้ศิลปะและวรรณกรรมบำบัด เพื่อลดภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะหมดไฟในยุคการแพร่ระบาดในสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้ริเริ่มการคัดสรรวรรณกรรมโดยมี อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 เป็นประธานฯ โดยเลือกสรรวรรณกรรมชุดแรก จำนวน 10 เล่ม ที่มีการนำเสนอครอบคลุมทั้งระดับทำให้ผู้อ่านเห็นคุณค่าชีวิต สร้างพลังใจ เห็นคุณค่าตนเอง ยกระดับจิตใจ และสามารถเยียวยาและบำบัดจิตใจได้ ดังนี้ 1. ขวัญสงฆ์, ผู้แต่ง : ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นร้อยกรองกลอนแปด ซ่อนไว้ในรูปร้อยแก้ว ได้รับการคัดสรรเป็นหนึ่งในเก้าของวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 เล่าเรื่องราวของเด็กวัด ซึ่งเป็นลูกกำพร้า มีปัญหาในชีวิต แต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เกื้อกูล ดูแลกันและกัน 2. ความสุขของกะทิ (ฉบับการ์ตูน), ผู้แต่ง : งามพรรณ เวชชาชีวะเป็นหนังสือที่มีความลึกซึ้งในการเข้าใจชีวิต เขียนด้วยเทคนิคให้ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ ซ่อนเอาไว้ว่า แม่เขาเป็นยังไงนะ พ่อเขาเป็นยังไงนะ ทำไมเขาต้องมาอยู่กับตา มีคำถามตลอดเวลาในขณะอ่าน ทำให้สนุก ลึกซึ้ง
3. ความสุขแห่งชีวิต, ผู้แต่ง : วิลเลี่ยม ซาโรยันถือเป็นสุดยอดของเรื่องแปล ที่แสดงความละเอียดอ่อนในจิตใจของคนในครอบครัวและจิตใจของชุมชนที่ใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน รู้ว่าทำอย่างไรคนของเขาถึงจะมีรอยยิ้มเลยเป็นความสุขแห่งชีวิต ทำให้สังคมมีความสุข 4. ทุกขณะกระจ่างชัด สัมผัสใจ, ผู้แต่ง : รินศรัทธา กาญจนวตีผู้เขียนเป็นคนตาบอด เขียนกลอนด้วยใจ แสดงมุมมอง ความเข้าใจคุณค่าชีวิต ทำให้สมบูรณ์แบบทุกบท ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 5.นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน, ผู้แต่ง : หลุยส์ เซปุล์เบดาใครที่อยากเรียนรู้ว่าชีวิตคืออะไร ต้องอ่านเรื่องนี้ เวลาที่นางนวลมาเจอกับแมว ตัวแทนของคนที่ต่างกัน คนที่เรียนรู้กับคนที่สอนคนอื่นได้ คนที่กำลังทุกข์ยาก ผู้เขียนซ่อนตัวเองไว้ในสัตว์ ผู้อ่านจึงได้สองส่วน ส่วนหนึ่งคือเข้าใจชีวิตความเป็นมนุษย์ที่แทนด้วยนางนวลกับมวลแมว ส่วนหนึ่งได้เข้าใจนกจริงๆ เข้าใจแมวจริงๆ
6. เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม, ผู้แต่ง : Mori Etoเรื่องแปลของนักเขียนชาวญี่ปุ่น งานเขียนญี่ปุ่นจะมีความลึกซึ้ง แสดงความเข้าใจชีวิตสูงมาก มีจินตนาการมหัศจรรย์อยู่เสมอ “ผม” ตัวละครเอก เป็นวิญญาณที่ได้รับการอนุญาตให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแก้ไขความผิดที่ตัวเองตัดสินใจ จึงน่าสนใจมากว่า เมื่อกลับมาแล้ว จะแก้ไขอย่างไร 7. ยอดมนุษย์ดาวเศร้า ผู้แต่ง : องอาจ ชัยชาญชีพเป็นนิยายภาพชีวิตของคนที่แตกสลาย 9 คน แต่ละคนมีชีวิตที่ล้มเหลวแตกต่างกัน เนื้อเรื่องเป็นตอนๆ ทำให้เข้าใจถึงการยืนยันวิธีแก้ปัญหาของตัวละคร อ่านง่ายเพราะเป็นภาพการ์ตูนและมีตัวอักษร
8. เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง, ผู้แต่ง : ดาวเดียวดายเป็นสารคดีที่สะท้อนสภาวะและความรู้สึกที่เป็นจริงของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้เขียนประสบปัญหาชีวิตมากมาย และเขียนเรื่องนี้ออกมา ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อวอร์ด ใครมีประสบการณ์โรคซึมเศร้าเมื่ออ่านเล่มนี้ อาจจะทุกข์ แต่จะผ่านไปได้ คนเขียนเองก็หายป่วย และยืนยันที่จะมีชีวิตอยู่ได้ 9. สามวันดีสี่วันเศร้า, ผู้แต่ง : อินทิรา เจริญปุระบันทึกประสบการณ์การเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้น หลังจากเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิต เป็นประสบการณ์ที่แทบไม่ได้กรองเลย ทำให้ผู้อ่านสัมผัสความอ่อนแอ วิธีการรักษา และการฟื้นฟูกำลังใจไปพร้อมๆ กัน 10. Dog eye view : มุมมองหมา, ผู้แต่ง : ไตรภัค สุภวัฒนาหนังสือการ์ตูน รางวัลดีเด่น ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดมุมมองหมาที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก ทั้งความทุกข์ ความสุข ผ่านความรัก ความผูกพันอย่างน่าประทับใจ เป็นการ์ตูนคลี่คลายผู้อ่านได้ในระดับสูงมาก
อย่างำรก็ตาม หนังสือทั้ง 10 เล่ม มีจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป สามารถอ่านงานแนะนำเพิ่มเติมได้จากวารสารอ่านสร้างสุข "วรรณกรรมยาใจ มหัศจรรย์แห่งการอ่าน ปาฏิหาริย์แห่งการเขียน" ได้ที่ www.happyreading.in.th หากโรงเรียนใดสนใจจัดกิจกรรมเรียนรู้ "อ่านยาใจ" สามารถติดต่อได้ที่ 02-424-4616 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ "อ่านยกกำลังสุข" คณะกรรมการคัดสรรวรรณกรรมยาใจ : ชมัยภร บางคมบาง, ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล, ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์, กนกวลี กันไทยราษฎร์, ชัยจักร ทวยุทธานนท์, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, อรพินท์ คำสอน, บารมี สมาธิปัญญา, ศักดา แซ่เอียว, สละ นาคบำรุง, เรืองศักดิ์ ดวงพลา, อินทรายุธ เทพคุณ, พาณี อิทธิบำรุงรักษ์, จีรพงษ์ ศรนคร และธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี