น่าห่วง! คนซึมเศร้าพุ่ง 59% กรมสุขภาพจิตและสสส.แนะใช้การอ่าน การเขียน ศิลปะ ลดภาวะเครียดด้วยตนเอง
นางสุดใจ พรหมเกิด ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสาและเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “พลังวรรณกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต:อ่านยาใจ”ปีที่ 2 และพิธีประกาศเกียรติคุณผู้ชนะการประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น”ปีที่ 1 ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และ Live ทาง Facebook เพจ “อ่านยกกำลังสุข” ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ จาก“วันทุกข์ที่ผ่านพ้น” สู่ “ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์” เพื่อให้ทุกคนนำพลังการอ่านสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ พร้อมสู้ภัยโควิด-19 โดยจัดประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น” มีผลงานส่งเข้าร่วมกว่า 300 เรื่อง ขณะนี้ได้นำผลงานชนะการประกวดเผยแพร่ทาง www.happyreading.in.th
สำหรับปี 2564 โครงการฯอ่านยาใจปี 2 ได้จัดกิจกรรมประกวด “เรื่องสั้น”และ “บทกวี” “ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์”เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ใช้พลังของการเขียนและการอ่าน รวมถึงศิลปะหลากแขนง ช่วยผ่อนเบาความทุกข์ คลายความเครียด สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและสังคม โดยเชื่อว่าพลังของการเขียนและการอ่าน เปรียบเหมือนวัคซีนทางความคิด สามารถนำไปใช้ป้องกันแรงกระแทกจากความทุกข์ที่ฉับพลัน และช่วยเยียวยาให้คนออกจากความเครียด ที่สำคัญผู้เขียนยังได้ตีแผ่เรื่องราวความทุกข์ที่สามารถหาวิธีจัดการจนผ่านพ้นได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ต่อสู้กับชีวิตและอยู่ต่อไป
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ทำประเมินสุขภาพจิตของประชาชนในยุคโควิด-19 ทั่วประเทศ จำนวน 131,014 ราย พบว่าประชาชนทั่วไปมีภาวะความเครียด โดยกรมสุขภาพจิตสรุป 4 สาเหตุหลักมาจาก 1.ภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 59.93 2.ความเครียดสูง ร้อยละ 53.47 3.ความคิดทำร้ายตัวเอง ร้อยละ 36.99 และภาวะหมดไฟ ร้อยละ 23.66 ซึ่งสถิติดังกล่าวเป็นสัญญานอันตรายต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทางกรมสุขภาพจิตจึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันหารือ เพื่อหาทางช่วยให้ประชาชนผ่านวิกฤตนี้โดยไม่ต้องพบจิตแพทย์ ในที่สุดจึงใช้วิธีดั้งเดิมในอดีตที่เคยใช้ได้ผลมากว่าร้อยปี ด้วยการทำบรรณบำบัดหรือการบำบัดจิตด้วยหนังสือ(Bibliotherapy) ซึ่งเป็นวิธีที่คนเยียวยาตนเองด้วยการวาดรูปและเขียนหนังสือ รวมถึงการระบายความรู้สึกผ่านไดอารี่ เมื่อนำไปทดสอบทางการแพทย์ด้วยการทำ MRI พบว่าสมองของคนที่ชอบเขียนและอ่านหนังสือมีการกระตุ้นการทำงานทุกส่วน ส่งผลให้ลดความเครียด นอนหลับได้โดยไม่ต้องพึ่งยา
“โครงการการอ่านยาใจ นอกจากจะเป็นโครงการประกวดงานเขียนแล้ว ทุกคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ระบายความรู้สึกให้ผ่านพ้นความทุกข์ เป็นการแชร์ความรู้สึกร่วมกัน ได้สร้างพลังใจร่วมกัน ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน อย่างไรก็ตามการหยิบหนังสือมาอ่านเหมือนการหยิบโดสยามาใช้ให้ถูกโรค ซึ่งแต่ละโรคต้องใช้ยาที่แตกต่างกัน บางคนต้องการยาที่อ่านแล้วได้ความตื่นเต้นเร้าใจ ส่วนบางคน ต้องการยาที่อ่านแล้วมีความสุข ความเพลิดเพลิน หรือเห็นคุณค่าของการมีชีวิต อ่านแล้วมีความรู้สึกร่วม มีพลังเหมือนตัวละคร”พญ.มธุรดา กล่าว
ด้าน นางชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 กล่าวว่า เมื่อใจมีปัญหาต้องหาวิธีเยียวยาใจ บางคนยังไม่รู้ตัวว่าหัวใจต้องการอะไรต้องแก้ไขอย่างไร ดังนั้น ผู้ป่วยใจต้องสังเกตอาการของตัวเอง และหาวิธีรักษาด้วยการพลิกมุมมองจากข้างใน เฉกเช่นกระบวนการของการอ่านและการเขียนที่เปรียบเป็นวัคซีนใจ ส่วนหนังสือเปรียบเป็นเม็ดยา เมื่อหยิบมาอ่านก็เหมือนกับการกินยารักษา เมื่อรักษาหายแล้วยังสามารถส่งต่อวิธีรักษานี้กับผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้อ่านวรรณกรรมยาใจ 10 เล่ม ที่ทางคณะกรรมการโครงการได้คัดสรรระยะที่ 1 ได้แก่ ขวัญสงฆ์,ความสุขของกะทิ,ความสุขแห่งชีวิต,ทุกข์ขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ, นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน,เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม,ยอดมนุษย์ดาวเศร้า,เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ,3วันดี 4 วันเศร้า และDog Eye View มุม-มอง-หมา หนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาที่ดีเหมาะกับการอ่านเติมพลังใจและสามารถหาซื้ออ่านได้ตามร้านหนังสือทั่วไป
นายศักดิ์ดา แซ่เอียว หรือ เซียไทยรัฐ เครือข่ายการ์ตูนสร้างสรรค์สังคมไทย กล่าวว่า คณะกรรมการโครงการอ่านยาใจ ช่วยกันหาวิธีเสริมสร้างพลังใจให้เยาวชนผ่านพ้นวิกฤตความเครียด ด้วยการคัดหนังสือการ์ตูนไทยและต่างประเทศที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์มาให้อ่านผ่อนคลาย รวมถึงการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสามารถด้านการเขียน วาดรูป ถ่ายภาพ เทคนิคสื่อผสม และศิลปะทุกแขนง ร่วมสร้างสรรค์ผลงานพร้อมติดแคปชั่นให้กำลังใจเรียกรอยยิ้มสู่คนไทย ในกิจกรรม "ศิลปะยาใจ ฝ่าภัยโควิด-19" โดยผลงานที่ส่งเข้ามาจะเผยแพร่ในเพจอ่านยกกำลังสุข จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนส่งผลงานร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทำให้สังคมยิ้มได้มากขึ้น
สำหรับผลการตัดสินการประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น”ประจำปี 2563 ประเภทเยาวชนรางวัลชนะเลิศได้แก่ บรรทุกที่ผ่านพ้น โดยพงศภัค พวงจันทร์ และประเภทเยาวชนทั่วไป ได้แก่ ไมยราบ โดยชาคริต แก้วทันคำ ส่วนผู้ที่สนใจโครงการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี “ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์” สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หมดเขตวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ติดตามข้อมูลทางเพจสมาคมนักเขียนและสอบถามข้อมูลที่เพจอ่านยกกำลังสุข หรือ ติดต่อแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.