กสศ.เผยผลกระทบจากการถูกตัดงบประมาณปี 2565 มากกว่า 2,000 ล้านบาท กระทบเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 700,000 คน
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดภาคเรียนการศึกษา 1/2564 ได้เกือบ 2 เดือน กสศ.และหน่วยงานต้นสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ได้ร่วมกันเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลระหว่างปีการศึกษา 1/2564 และ 2/2563 เพื่อติดตามเฝ้าระวังปัญหานักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา หลังคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติมให้นักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ได้แก่ อนุบาล 3 ป.6 ม.3 และ ม.6 (เฉพาะสังกัด บช.ตชด.) ครอบคลุม 3 สังกัด ได้แก่ สพฐ. อปท. และบช.ตชด. คนละ 800 บาท จำนวนราว 3 แสนคน รวมงบประมาณมากกว่า 235 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย นักเรียนทุนเสมอภาคในช่วงเปิดเทอมที่ค่อนข้างสูง สวนทางกับรายได้ที่ลดลงหรือขาดหายไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มรอยต่อที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนย้ายสถานศึกษา เสี่ยงหลุดออกนอกระบบมากกว่าช่วงชั้นอื่นๆ โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มรอยต่อมากกว่า 5,000 คนที่แจ้ง กสศ. ตั้งแต่เทอม 2/2563 ว่าไม่สามารถเรียนต่อในปีการศึกษา 2564 อีกต่อไป เพราะปัญหายากจนและความจำเป็นของครอบครัวต่างๆ
“ซึ่งหลังจากมีตรวจสอบฐานข้อมูลรายบุคคลล่าสุดร่วมกัน 3 หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มรอยต่อสังกัด สพฐ.จำนวน 271,792 คน ในปีการศึกษา 2/2563 ที่แจ้งว่าจะเรียนต่อในภาคเรียน 1/2564 ได้กลับมาแสดงตนลงทะเบียนเข้าศึกษาต่อในสังกัด สพฐ.จำนวน 214,202 คน (ร้อยละ 78.81) ไม่พบในฐานข้อมูลทะเบียนนักเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 57,590 คน (ร้อยละ 21.19) ทำให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ภายในสัปดาห์นี้ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาจะเร่งหารือถึงมาตรการและแนวทางการติดตามช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนระดับอนุบาล 3 จำนวนมากกว่า 1,000 คน และ นักเรียน ป.6 จำนวนมากกว่า 25,000 คน ที่ควรจะเข้าเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ในปีการศึกษา 2564 นี้ ตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียน และความมั่นคงของครัวเรือนในอนาคต โดย กสศ. จะเร่งประสานจัดส่งฐานข้อมูลนักเรียนทั้งหมดไปยังหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกแห่งทั่วประเทศต่อไป เพื่อเร่งติดตามช่วยเหลือให้นักเรียนได้กลับมาเรียนตามปกติ” นพ.สุภกร กล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้นสูงสุดตามประกาศของรัฐบาลนั้น อาจทำให้มีผู้ขาดรายได้ ว่างงานเพิ่มจำนวนสูงขึ้น วสศ. ได้มีการพัฒนาแบบจำลองเพื่อประเมินผลกระทบจากการว่างงานและรายได้ที่ลดลงของครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศไทย ปีการศึกษา 2564-2565 พบว่ากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ในภาคเรียนที่ 2/2564 และภาคเรียนที่ 1/2565 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ราวร้อยละ 10 จากปีการศึกษา 2563 หรือคิดเป็นจำนวนราว 150,000-300,000 คน ทำให้ กสศ. จำเป็นต้องเตรียมงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 เป็นจำนวนเงินเพิ่มขึ้นราว 463,177,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ม.ต้น (3-14 ปี) ทั่วประเทศ
นอกจากนั้น จากการประเมินสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ในช่วงรอยต่อปีการศึกษา 2564-2565 กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อจำนวนมากกว่า 400,000 คน ในระดับชั้นอนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 2-3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสังกัด สพฐ. อปท. และ บช.ตชด. จะยังคงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้โดยเฉลี่ยครัวเรือนอยู่ประมาณ 50 บาทต่อวัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของกสศ. ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จะทำให้มีจำนวนตัวเลขเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย ในลักษณะเดียวกับที่ได้พบในช่วงรอยต่อปีการศึกษา 2563-2564 ที่ผ่านมา กสศ. จึงจำเป็นต้องเตรียมงบประมาณเพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อคนละ 1,000 บาท ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 เป็นเงินงบประมาณราว 421,400,500 บาท
ทั้งนี้ ด้วยข้อมูลวิชาการ และแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในวงกว้างในปีการศึกษา 2564-2565 ดังกล่าว คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้ประเมินผลกระทบจากการปรับลดงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 ที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีไปที่ 7,635.67 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับลดงบประมาณ 2 ครั้งตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ เหลือ 5,652.29 ล้านบาท รวมการปรับลดทั้ง 2 ครั้งมากกว่า 2,000 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อเด็กเยาวชนในครัวเรือนยากจนด้อยโอกาสมากกว่า 700,000 คนที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาภายใต้สถานการณ์โตวิด-19 นี้ คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงมีมติเห็นชอบให้เสนอขอแปรญัตติงบประมาณกลับคืนมา 904 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้รองรับจำนวนกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นราว 300,000 คน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มรอยต่อราว 400,000 คน ระหว่างปีการศึกษา 2564-2565 โดยปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สภาผู้แทนราษฎร ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับ กสศ.