กสศ.เปิดรับทุนพัฒนาอาชีพฯรุ่น3เพื่อเด็กไม่หลุดออกจากระบบมีโอกาสเรียนสูง
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมออนไลน์ ‘ประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2564’ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชากรนอกรั้วโรงเรียนวัย 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแรงงานกลุ่มนี้ราว 20 ล้านคน หรือ70% ในจำนวนนี้คือแรงงาน นอกระบบที่ขาดทักษะ ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ โดยเปิดรับผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.EEF.or.th หรือ ทุนพัฒนาอาชีพ.com ตั้งแต่วันที่ 10 - 23 กรกฏาคม 2564 และจะประกาศผลโครงการที่ผ่านการพิจารณาภายในเดือน สิงหาคม 2564
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟ พบว่าจะมีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน และมีเด็กจบการศึกษาใหม่ 1.3 ล้านคน ดังนั้นต้องหาทางรองรับคนที่จะหลั่งไหลออกจากเมืองกลับไปยังชุมชน อีกทั้งความคิดของทีมงานที่เน้นการทำงานโดยใช้ชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบของการรองรับแรงงาน เราอาจต้องเตรียมการเรื่องสวัสดิการทันสมัย รองรับคนที่จะกลับชุมชน ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า คนจนเฉียบพลัน คนยากจนพิเศษ คนจนถาวร หรือเกือบจนในแต่ละชุมชนเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการบริหาร กสศ. และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ฯ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคน โดยมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานร่วมกัน ตั้งแต่พื้นที่ ความสนใจสภาพปัญหาชุมชน รวมถึงทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีร่วมกัน ซึ่งโครงการ ฯ เน้นว่าจะต้องไม่ใช่การฝึกอบรมอาชีพทั่วไป และไม่ได้เป็นการสงเคราะห์ แต่คือสร้างการเรียนรู้บนฐานสุภาษิตที่ว่า ‘แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาที่มี’ หมายถึงในสภาวะที่ผู้คนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ของการประกอบอาชีพ อีกทั้งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีวิกฤตเข้ามาบีบคั้น สิ่งที่จะทำให้ผู้คนและชุมชนฝ่าฟันไปได้เราต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำ และนี่คือเป้าหมายและทิศทางของโครงการนี้
ขณะที่ น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบ isee ของกสศ. (www.isee.eef.or.th/) พบว่า มีนักเรียนทุนเสมอภาคจำนวน 1.17 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้มาจากครัวเรือนยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศ เมื่อมีวิกฤติโควิด -19 มีรายได้ราว 1,021 บาทต่อคนต่อเดือน หรือราว 34 บาทต่อวัน เท่านั้นจึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดในการช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ที่จำนวนมากต้องประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และกลับภูมิลำเนามากขึ้น มาใช้ในการทำงานของโครงการ ฯ ในปี 2564 นี้ เพื่อเป็นต้นแบบการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสมาชิกครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ให้มีทักษะอาชีพและสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ต่อไป