พช.จับมือการรถไฟฯเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์พื้นที่ริมทางทำโครงการ“โคก หนอง นา โมเดล”ปลูกพืชผักสวนครัวไม้ดอกโดยไม่คิดค่าเช่า นอกจากสร้างอาชีพให้คนในชุมชนแล้วยังสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ตลอด 2 ข้างทาง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย และ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมหารือการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี คณะผู้บริหารของสองหน่วยงานร่วมประชุม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (video conference) ด้วยโปรแกรม zoom cloud meeting
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฏีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จนเกิดแหล่งเรียนรู้ 32 แห่ง ผู้นำต้นแบบ 1,500 คน และเครือข่าย 22,500 คน และในปี 2564 การดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ใน 11,141 หมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการ “โคก หนอง นา พช.” มีผู้สนใจเข้าสมัครแล้วกว่า 35,503 ครัวเรือน และจ้างงานสำหรับผู้ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวน 9,157 ราย และเกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด
ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเชื่อว่าด้วยศักยภาพที่เชื่อมโครงข่ายการขนส่งมวลชนทุกภูมิภาค คู่กับสังคมไทยมาช้านาน เส้นทาง 2 ข้างรางรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ให้เป็นประจักษ์ นอกจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อช่วยให้ผู้ยากไร้ ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สร้างอาชีพ สร้างผลผลิต ก่อเกิดรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ผลพลอยได้อีกประการคือ เกิดความสวยงาม ในเส้นทางที่จะเล่าเรื่องราววิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชน ท้องถิ่น เกิด Landmark ที่จะช่วยส่งเสริมในธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเกิดพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชุมชนสองข้างทางรถไฟในอนาคตอีกด้วย
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขยายภารกิจไปสู่การสร้างประโยชน์เชิงสังคม ตอบสนองนโยบายของรัฐในการพัฒนา ตัวอย่างโครงการดังกล่าว คือ โครงการเกษตรริมราง (รถไฟ) โดยได้แบ่งเนื้อที่ 2 ข้างราง ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีในการบูรณาการนำสรรพกำลัง มาช่วยกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่มีขอบเขตกว้างมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางที่เปิดการเดินรถไฟ รวมทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร ที่โยงใยทุกภูมิภาค ดังนั้น ภายในระยะ 1 เดือน ต่อจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ 2 ข้างราง โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แนวยาว โดยจะพิจารณาถึงความเหมาะสม หรือความพร้อม เพื่อจัดลำดับความสำคัญเข้าร่วมในโครงการฯ รวมถึงที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือนอกสถานีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความยินดีในการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม ทรัพยากร โดยจะร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการหนุนสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาคน ให้คนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อเป็นอีกต้นแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลต่อไป
รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ของกรมการพัฒนาชุมชน มีนัยยะสำคัญที่มากกว่าการเกษตร แต่คือกระบวนการขับเคลื่อนอบรมบ่มเพาะจนเกิดการเปลี่ยนวิธีคิด (Mind Set) ให้ “ระเบิดจากข้างใน” ให้เป็นมนุษย์พอเพียง ที่สามารถจัดการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ด้วยทฤษฎีใหม่ด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความ “พอมี พอกิน” ให้กับทุกคน ซึ่งจากการดำเนินการอย่างจริงจังมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 รูปธรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในเชิงวิชาการ เราจึงมีทั้ง สื่อ/คู่มือ/หลักสูตร วิทยากร ครูพาทำ แหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด ในเชิงการพัฒนาคนมากกว่า 3 หมื่นครัวเรือน เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้จึงถือเป็นความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่น
สำหรับ กรมการพัฒนาชุมชนได้จับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการร่วมสร้างโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ โดยหลักทฤษฎีใหม่ ที่กรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย เชื่อมั่นว่าจะสามารถพลิกโฉมเส้นทางนำประโยชน์มาสู่ผู้ยากไร้ ผู้มีความตั้งใจจริงในพื้นที่ และบรรลุไปถึงการสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศร่วมกันทุกฝ่าย และที่สำคัญอีกอย่าง คือ ยังเป็นการมอบโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร ตลอดจนสหภาพแรงงานการรถไฟได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ขณะที่ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย นั้น คือความพยายามไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้ง 17 ประการ และสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน ด้วยศักยภาพหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคมามากกว่าร้อยปี เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคทั้งอาเซียน และภูมิภาคเอเซีย รวมไปถึงเป็นส่วนสำคัญใน“เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road)