กระทรวงวัฒนธรรมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2564 โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และประชาชนเข้าร่วม
นายอิทธิพลกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๓ พรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ในส่วนกลาง จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร เวลา 09.30 น. ณ วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร โดยมีพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ และพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ เวลา 14.00 น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนครกรุงเทพมหานคร โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ในส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ มีการจัดกิจกรรม 4 กิจกรรมตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คือ กิจกรรมเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก กิจกรรมปฏิบัติธรรม, กิจกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ, กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ การเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ คือ การเจริญพระพุทธมนต์ที่มีจำนวนข้อธรรม เท่ากับจำนวนของกำลังนพเคราะห์ อันได้แก่ เทวดานพเคราะห์ ประจำวันทั้ง ๙ คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันราหู (วันพุธกลางคืน) และวันที่สมมติอีก ๑ วัน ที่มีนามว่า พระเกตุ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่ทราบวันเกิด
ในคัมภีร์โหราศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ในวันทั้งเจ็ดนี้มีเทวดาคุ้มครองเกี่ยวข้องด้วยกำเนิดมนุษย์ อันอาจส่งผลให้เกิดคุณ เกิดโทษ ทำให้เกิดทุกข์ โศก โรคภัย หรือทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืนยาวหรือสั้นได้ ซึ่งตามโบราณประเพณี เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปีนักษัตร หรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะได้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายคนดีตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา.